posttoday

7 วิธีป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เมื่อค้าขายข้ามประเทศ

27 มิถุนายน 2561

ปีนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการแกว่งตัวสวิงสวายเหลือเกินจริงๆ

โดย...วารุณี อินวันนา 

ปีนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการแกว่งตัวสวิงสวายเหลือเกินจริงๆ เห็นจากอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งประเทศไทย วันแรกของปี 2561 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.43 และแข็งค่ามาอยู่ที่ 31.13 บาท เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 ถือว่ามีการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี  

พอมาถึงวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 32.99 บาท เป็นการปรับตัวอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 7 เดือน

ทั้งนี้ ธีธัช เชื้อประไพศิลป์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนวิเคราะห์และพัฒนาตลาดการเงิน ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ค่าเงินมีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศหลักๆ ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมถึงความเสี่ยงและความกังวลเรื่องสงครามทางการค้าที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ อาจทำให้ค่าเงินมีความผันผวนรุนแรงขึ้นในอนาคต

แน่นอนราคาของค่าเงินที่อ่อนค่าและแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินโดยตรงกับผู้ที่ค้าขายข้ามประเทศ 

7 วิธีป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เมื่อค้าขายข้ามประเทศ

ในกรณีที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าจะได้ประโยชน์ หรือมีโอกาสได้กำไรเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพราะขายสินค้าเป็นดอลลาร์ พอมาแลกเป็นเงินบาทได้ในจำนวนที่มากขึ้น และจะขาดทุนเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะเมื่อนำเงินดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาทได้จำนวนลดลง

ในกรณีที่เป็นผู้นำเข้า จะเสียประโยชน์ถึงขั้นขาดทุนหากเงินบาทอ่อนค่าลง และจะได้ประโยชน์หรือมีโอกาสกำไรหากบาทแข็งค่าขึ้น

การแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินบาท จึงส่งผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้า รวมถึงผู้ที่มีการลงทุนในต่างประเทศก็ย่อมได้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะจะมีผลต่อกำไรและขาดทุนของธุรกิจ

ช่วงนี้เงินบาทกำลังอ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี เพราะใช้วัตถุดิบในการผลิตภายในประเทศเกือบทั้งหมด แต่ถ้าบาทแข็งค่าขึ้นมาเมื่อไหร่ก็มีสิทธิเจ็บตัวหนักเช่นเดียวกัน 

ทางออกในการหลีกเลี่ยงความผันผวนของค่าเงิน ทำได้โดยการใช้เครื่องมือการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging) ที่อยู่ในรูปของตราสารอนุพันธ์ ด้วยการล็อกค่าเงินบาทไว้ในระดับที่รับได้ ทำให้ทราบต้นทุนทางการเงินของตัวเองที่แน่นอน เพราะสามารถคาดการณ์รายได้และมีต้นทุนที่แน่นอนในการวางแผนลงทุนใหม่ๆ หรือขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างสบายใจ

7 วิธีป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เมื่อค้าขายข้ามประเทศ

ในการที่จะทำ FX Hedging สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การขอเปิดวงเงินการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงกับธนาคารก่อน โดยผู้ขอวงเงินจะต้องมีหลักประกันซึ่งอาจจะใช้หลักทรัพย์ ใช้คน หรือเงินฝาก ค้ำประกันได้แล้วแต่ธนาคาร ส่วนจะได้หรือไม่ได้ และได้วงเงินเท่าไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับผลการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ และโอกาสการเบี้ยวหนี้ 

จากผลการศึกษาวิจัยของนักวิจัยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ผู้ส่งออกและนำเข้ารายเล็กๆ หรือกลุ่มเอสเอ็มอี จะถูกประเมินความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง ทำให้ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยสูง และยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำ FX Hedging สูงด้วยเมื่อเทียบกับรายใหญ่ และบางรายอาจไม่ได้รับการอนุมัติวงเงินการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยง

ในกรณีที่มีวงเงินในการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงกับธนาคารแล้ว ทางธนาคารจะมีเครื่องมือการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของแต่ละกิจการ และความเสี่ยงของกิจการ นั้นๆ รวมถึงต้นทุนทางการเงินในการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ก็จะแตกต่างกันไปตามขนาดธุรกรรมและความเสี่ยงของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือการป้องกันความเสี่ยงที่นิยมมากที่สุด 4 ลำดับแรก ประกอบด้วย

1.Forward คือการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับธนาคาร ณ วันที่กำหนดไว้ในอนาคตด้วยอัตราแลกเปลี่ยนและจำนวนเงินที่ได้ตกลงไว้ ณ ปัจจุบัน ซึ่งผลการวิจัยของ ธปท.ปี 2559 มีผู้ค้าขายข้ามประเทศใช้เครื่องมือนี้ถึง 48%

2.Spot คือ การตกลงซื้อขายเงินตราต่างประเทศโดยมีระยะเวลาส่งมอบเงินภายในสองวันทำการ โดยมีผู้ค้าขายระหว่างประเทศใช้เครื่องมือนี้ในปี 2559 สัดส่วน 46%

3.Swap คือ การทำสัญญาระหว่าง ผู้ประกอบการ 2 ฝ่าย ส่วนใหญ่มักใช้ธนาคารเป็นตัวกลาง โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีความต้องการที่จะแลกเปลี่ยนเงินต่างสกุลกันในปัจจุบันก่อนจะแลกกลับในอนาคตตามจำนวนเงิน วันส่งมอบและอัตราแลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ในสัญญา โดยมีผู้ใช้เครื่องมือนี้ในปี 2559 เพียง 3%

7 วิธีป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เมื่อค้าขายข้ามประเทศ

4.Option คือ สิทธิในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยมีความคล้ายคลึงกับ Forward แต่ต่างกันตรงที่ผู้ถือ Option สามารถเลือกที่จะใช้สิทธิ ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ตามที่ตกลงไว้หรือจะไม่ใช้สิทธิก็ได้ มีผู้ใช้เครื่องมือนี้ในปี 2559 เพียง 3%

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ในการใช้บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ คือ 5.การใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) เหมาะกับผู้ที่มีทั้งการส่งออกและนำเข้า เพราะเมื่อได้เงินต่างประเทศมา ไม่ต้องขายทันที แต่เก็บไว้เพื่อจ่ายค่าสินค้าในอนาคต โดยจะมีต้นทุนจากการฝากและถอน  

6.การบริหารรายได้กับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกัน (Natural Hedge) ด้วยการกำหนดให้รายได้หรือรายจ่ายเป็นสกุลเงินเดียวกัน และมีการส่งมอบเงินในเวลาที่ตรงกันหรือในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน เป็นการหักลบกลบหนี้กัน หากเหลือก็ถือว่ากำไร แต่ถ้าขาดก็ต้องหาเงินไปเติม และ 7.วิธีการรับจ่ายด้วยสกุลเงินบาท (THB Invoicing)

สำหรับรายละเอียดวิธีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ขั้นตอน และเอกสารหลักฐานต่างๆ สามารถขอได้จากทางธนาคารพาณิชย์ รวมถึงต้นทุนทางการเงินในการเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ ด้วย ซึ่งจะไม่เท่ากัน

กลุ่มเอสเอ็มอีจะค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะใช้บริการธนาคารเพียงไม่กี่ราย จึงไม่ได้เห็นต้นทุนของธนาคารอื่นๆ อาจจะได้ต้นทุนทางการเงินสูงกว่า กลุ่มผู้ค้าขายรายใหญ่ที่ใช้บริการกับหลายธนาคาร ที่สามารถนำต้นทุนมาเปรียบเทียบและเลือกธนาคารที่ให้ต้นทุนที่ต่ำที่สุดได้

อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ ในการเปิดเผยต้นทุนทางการเงินในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้เอสเอ็มอีจะได้เห็นและเลือกใช้บริการธนาคารที่มีต้นทุนต่ำได้ โดยวางกรอบที่จะเปิดเผยให้ได้ภายในครึ่งหลังของปี 2561 หรือต้นปี 2562