posttoday

เทรนด์ ที่ผู้ลงทุนเลือก

23 พฤษภาคม 2561

การจะเลือกลงทุนหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ขั้นตอนการคัดเลือกระหว่างผู้ลงทุนรายบุคคลและสถาบันย่อมมีความแตกต่างกัน

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง 

การจะเลือกลงทุนหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ขั้นตอนการคัดเลือกระหว่างผู้ลงทุนรายบุคคลและสถาบันย่อมมีความแตกต่างกัน การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการนำหลักเรื่องการปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี “CG Code” ใหม่มาก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นหลักให้ บจ.ยึดในการปฏิบัติตามได้ แต่ในหลักปฏิบัติคงต้องมองด้วยหลายมุมมอง

บริษัทยั่งยืนต้องหลุดกรอบมองระยะสั้น

“วรัชญา ศรีมาจันทร์” ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต.  ในหลักการ CG Code ใหม่ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลง 3 เรื่องใหญ่ คือ เปิดเผยคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) การเปิดเผยกระบวนการทบทวนการนำ CG Code ไปปรับใช้ และการยกเลิกการใช้ฮาร์ดก๊อบปี้หรือส่งเอกสารเป็นกระดาษในงบการเงิน

แต่สิ่งที่จะเริ่มมีความสำคัญหลังจากนี้คือ เทรนด์ที่ผู้ลงทุนทั่วโลกจะใช้ในการพิจารณาและเลือกการลงทุนมากขึ้น คือ การเตรียมตัวและการรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมากขึ้น เช่น การก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการทำงาน การแข่งขัน และผลประกอบการของ บจ.มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง บจ.จะมีการบริหารและจัดการแบบเดิมไม่ได้ ที่สำคัญคือ ควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท

ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าบริษัทมีมูลค่าเพิ่มจากดำเนินงานคือ บริษัท เทสลา ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ปัจจุบันผลประกอบการยังขาดทุน มูลค่าหุ้นทางบัญชีก็ยังติดลบอยู่ แต่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของเทสลา
สูงมากเมื่อเทียบกับหุ้นบริษัทอื่นๆ นั่นเพราะผู้ลงทุนทั่วโลกมีการให้มูลค่ากับตัวบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากประเด็นความสนใจและเรื่องที่จะช่วยกันลดโลกร้อน และทำให้สังคมสามารถอยู่รอดได้

ทั้งนี้ เพราะเทรนด์ที่คนประเมินค่าและให้ความสำคัญเรื่อง “สิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล” หรือ ESG มากขึ้น ที่จะต้องมีการประกอบธุรกิจที่มีการคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ซึ่งมีความแตกต่างจากเมื่อก่อนที่จะคำนึงถึงผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้น 

เทรนด์ ที่ผู้ลงทุนเลือก

พร้อมกันนั้น จะมาพร้อมกับการดำเนินธุรกิจที่จะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างระยะยาวหรืออย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งอุปสรรคอย่างหนึ่งคือ ต้องมีกลไกองค์กรที่ต้องหลุดจากความคุ้นชินหรือกรอบเดิมๆ ที่ไม่ได้คิดถึงการดำเนินเพียงระยะสั้น เช่น การสร้างแต่ผลกำไร หรือการวัดผลงานจากเคพีไอ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยอดขายหรือกำไรที่เติบโตขึ้น

ทั้งนี้ พบว่า ปัจจุบันสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจและมีส่วนตัดสินใจในการลงทุน มีอยู่ 4 อย่าง คือ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเทคโนโลยี สอง ความสามารถของบริษัทที่จะจัดการกับทรัพยากรทั่วไปที่เริ่มหายไป สาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น นำไปสู่การผลิตรถไฟฟ้า และสี่ การเปลี่ยนแปลงบุคลากรภายในบริษัท ที่จะดูว่าบริษัทจะมีการจัดการบริหารอย่างไรเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา และทิศทางการลดการใช้พลังงานมากขึ้น

ขณะที่ตัวแปรหลักอย่างหนึ่ง คือ นอกจากผู้บริหารแล้ว คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ต้องเข้าใจและเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงมันส่งผลกระทบต่อบริษัทจริงๆ และมีนโยบายหรือแผนตั้งรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และบุคลากรที่สำคัญที่จะทำให้บอร์ดให้ความสำคัยเรื่องนี้คือ “เลขานุการบริษัท” เพราะเป็นตัวแปรหนึ่งที่จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมบอร์ดและเป็นแผนงานการบริหารที่ยั่งยืนได้

7 เทรนด์ที่ผู้ลงทุนสนใจ

“วารุณี ปรีดานนท์” หุ้นส่วน บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส มองเป็นแนวปฏิบัติที่นอกเหนือ CG Code ที่บริษัทต่างๆ ควรให้ความสนใจคือ เมื่อโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากขึ้น แนวโน้มการทำธุรกิจนับวันก็จะมีความซับซ้อนที่มากขึ้นจากเดิมมาก ดังนั้นบทบาทและหน้าที่ของบอร์ดบริษัทก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ การพิจารณาและดูเรื่องการบริหารความเสี่ยงก็จะมีเรื่องแปลกใหม่ทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง “Cyber Risk” ที่แต่ละบริษัทควรต้องหากลไกต่างๆ และเตรียมรับมือกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นอกจากนั้น เทรนด์แนวโน้มของหลักกำกับดูแลกิจการที่ดีจากนี้ไปมีอยู่ 7 เรื่องหลัก ที่จากนี้ไปเชื่อว่าทั้งนักลงทุนรายบุคคลและสถาบันจะใช้พิจารณามากขึ้นคือ หนึ่ง การที่ผูู้ลงทุนจะมีความรู้สึกในกิจการหรือมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น สอง ผู้ลงทุนต้องการคาดหวังกับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ รวมถึงองค์ประกอบของกรรมการที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น เรื่องเพศ เรื่องทักษะความสามารถ รวมถึงการทำหน้าที่ของกรรมการอิสระที่จะทำหน้าที่ในบทบาทของตัวเองอย่างไร สามารถคานอำนาจหรือหลุดกรอบคิดของกรรมการบริหารทั่วไปได้หรือไม่

สาม ผู้ลงทุนจะดูผลตอบแทนของกรรมการที่ดูแล้วจะเหมาะสมกับค่าตอบแทนที่ทำไปหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มที่ผู้ลงทุนจะให้กรรมการเปิดเผยเรื่องค่าตอบแทนรายปีมีสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในแง่รายบุคคลหรือทั้งคณะ สี่ ความคาดหวังบทบาทการบริหารงานที่มีการดำเนินตามแผนระยะสั้นตามทรัพยากรหรือแผนงานปัจจุบัน และแผนงานรองรับการดำเนินงานในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันสอดคล้องกับสิ่งที่ บจ.ไทยกำลังปรับตัวและทำอยู่ คือ การบริหารงานที่มองความยั่งยืนเป็นหลัก

ห้า การให้ความสำคัญกับความเสี่ยง เพราะเชื่อว่าบริษัทไหนไม่มีความเสี่ยงถือว่าบริษัทนั้นมีมุมมองที่ดีเกินไป หก งานวิจัยหลายแห่งออกมามีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยทางเทคโนโลยีหรือจากโลกไซเบอร์มากขึ้น และเจ็ด ปัญหาด้านบุคลากรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสูง

นอกจากนั้น แต่ละบริษัทควรมีการทำ “แผนสืบทอดต่อของกิจการ” (Succession Plan) ที่จะทำอย่างไรให้มีการต่อยอดบริษัท การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทสามารถอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้ควรทำอย่างเป็นระบบและกรอบการทำงานที่ชัดเจน

เทรนด์ ที่ผู้ลงทุนเลือก

เทรนด์ทำให้บริษัทยั่งยืน

“สุวัจชัย เมฆะอำนวยชัย” หุ้นส่วนบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ให้มุมมองว่า แนวโน้มการมีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมองได้ 4 รูปแบบ คือ หนึ่ง การปลูกฝังมุมมองเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรให้ได้ อีกทั้งต้องสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท และตั้งเป้าหมายว่าต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ สอง เทคโนโลยี ที่ต้องผลักดันให้ผู้บริหารและบอร์ดบริษัทเห็นความสำคัญและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

สาม ต้องพยายามตั้งคำถาม สร้างมุมมองและการทำตัวเลขทางการเงินนอกเหนือจากแบบเดิมไม่ใช่แค่ตัวเลขกำไร ผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น ผลตอบแทนส่วนผู้ลงทุน ที่สหรัฐและที่ยุโรปกำลังให้ความสำคัญกับตัวเลขมูลค่าทางการตลาดของบริษัท นโยบายที่จะทำให้ผลตอบแทนจากกระแสเงินสดจะมีมูลค่าอย่างไรในอนาคต และ สี่ การประชุมในบางวาระที่ไม่ได้เกี่ยวกับแผนกลยุทธ์ของบริษัท ก็สามารถไลฟ์การจัดการประชุมของบอร์ดบริษัทได้ เพื่อให้เห็นการทำงานและความเป็นผู้นำของบอร์ดบริหาร ที่ไม่ได้ดูเหมือนเป็นนามธรรมแบบเมื่อก่อน 

เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญสุดคงไม่พ้นการปรับตัวและวางแผนตั้งรับให้ดี