posttoday

เลือกสไตล์ลงทุนอย่างไร สร้างชีวิตสบ๊ายสบายหลังเกษียณ

14 พฤษภาคม 2561

ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึง “ความเพียงพอ” ของเงินกองทุน กับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดย...วารุณี อินวันนา

ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึง “ความเพียงพอ” ของเงินกองทุน กับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน ก็กำลังเคร่งเครียดกับการจัดทำมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะทำให้ต้องตั้งสำรองเงินกองทุนเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล เพื่อให้ “เพียงพอ” ในการรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจให้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง

บริษัทประกันชีวิตก็ต้องตั้งสำรองเงินกองทุนไว้ล่วงหน้าเช่นกันให้ “เพียงพอ” ต่อการจ่ายผลประโยชน์ตามสัญญาในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้า

บริษัททั่วไปก็ต้องตั้งสำรองเงินที่จะต้องชดเชยพนักงานเกษียณไว้ล่วงหน้าให้ “เพียงพอ” เพราะถ้าไม่พออาจทำให้บริษัทเจ๊งได้

แม้แต่ตัวเราเองก็ต้อง “สร้างเงินกองทุนล่วงหน้าเพื่อรองรับการใช้ชีวิตให้เพียงพอทั้งปัจจุบันและอนาคต”

หลายคนอาจจะบอกว่า อนาคตช่างมัน เอาวันนี้ให้รอดก่อน หรือรอใกล้ๆ เกษียณก่อนแล้วค่อยลงมือ ต้องบอกเลยว่า “กำลังพาตัวเองไปเดินอยู่บนราวเล็กๆ ที่พร้อมจะตกลงได้ตลอดเวลา คือ เสี่ยงงงง”

เพราะวันข้างหน้า อายุที่มากขึ้น แรงก็ถดถอย ที่ตั้งใจว่าจะเกษียณการทำงานตอน 60 ปี อาจจะเกษียณก่อน 60

หรือวันหนึ่งบริษัทเกิดนำหุ่นยนต์ หรือเอไอ มาทำงานแทนคน เรามีอันต้องหลีกทาง

รวมถึงเกิดวิกฤตทางธุรกิจนำมาซึ่งวิกฤตการเงิน ทำให้บริษัทต้องลดจำนวนพนักงานกะทันหัน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา และมีความถี่มากขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เงินไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่ทุกอย่างในการดำรงชีวิตต้องใช้เงิน

เงินจึงเป็นตัวแปรสำคัญหลัก คู่กับสุขภาพ ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า อนาคตเราจะมีแนวโน้มไปทางสุข หรือมีแนวโน้มไปทางทุกข์

การจะตั้งสำรองเงินกองทุนรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณให้ “เพียงพอ” ต้องรู้จักเลือกสไตล์การลงทุน ก่อนอื่นจะต้องมาดูเงินในกระเป๋าตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างไร

เริ่มจากการ “เช็กสุขภาพทางการเงิน” กับ นสพ.ธนัฐ ศิริวรางกูร หรือหมอนัทผู้วิเคราะห์กองทุนและที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ช่วยเป็นโค้ชให้กับผู้วางแผนเกษียณ ในงาน “วางแผนการลงทุน เพื่อชีวิตดี๊ดีวัยเกษียณสุข” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เริ่มทำตามที่หมอนัทแนะนำกันเลย ดูซิว่า ตอนนี้มีเงินอยู่เท่าไร เงินที่มีอยู่จะใช้ได้กี่ปี และจะทำให้เงินเพิ่มขึ้นได้อย่างไร 

หลังจากนั้นมาดูว่า สวัสดิการด้านสุขภาพมีอะไรบ้าง ใครที่เคยรับราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ยังสามารถใช้สิทธิได้ต่อไปหลังเกษียณจะช่วยลดภาระการเงินได้ แต่คนที่ทำงานภาคเอกชน อาจจะมีสวัสดิการบัตรทอง หรือต้องเก็บเงินก้อนหนึ่งไว้สำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม

เมื่อทราบแล้วว่า สุขภาพทางการเงินของตัวเองเป็นอย่างไร จึงมาวางแผนการใช้เงินตามเป้าหมาย เช่น เงินที่มีแผนจะใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า ก็ลงทุนสั้นๆ และปลอดภัย ซึ่งจะให้ผลตอบแทนประมาณ 2-4% ต่อปี

แผนใช้เงินในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นำไปลงทุนในพอร์ตความเสี่ยงปานกลาง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนประมาณ 6-8% ต่อปี 

แผนการใช้เงินในอีก 5-7 ปีข้างหน้า สามารถลงทุนในความเสี่ยงสูงได้ โดยเฉลี่ยจะได้ผลตอบแทนประมาณ 9-10% เตรียมนำเงินก้อนนี้ไปหาผลตอบแทนให้งอกเงย และให้เหมาะสมกับความเสี่ยง

ส่วนจะลงทุนแบบไหน 3 กูรูมือบริหารเงิน จาก 3 บลจ. มีคำแนะนำ “วัยเก๋าอยากสบาย ต้องรู้จักเลือกสไตล์ลงทุน”

หนึ่งคำถามยอดฮิตที่ วศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง มักจะได้รับตั้งแต่เข้าสู่วงการลงทุนว่า มีเงินลงทุนจากมือใหม่ ควรจะซื้อกองทุนรวม หรือซื้อหุ้นรายตัวดี ซึ่งแนะนำให้มอง 2 มุม คือ ผลตอบแทนกับความเสี่ยง

ในมุมของผลตอบแทน ไม่สามารถตอบได้ว่า ลงทุนกองทุนรวม หรือซื้อหุ้นรายตัว แบบไหนให้ผลตอบแทนดีกว่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง

แต่ในมุมของความเสี่ยง ตอบได้ทันทีว่า การลงทุนในกองทุนรวม ความเสี่ยงจะต่ำกว่า

การลงทุนก็เหมือนการเดินทาง ระหว่างทางต้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และไปให้ถึงเป้าหมาย

มือใหม่ จึงควรเริ่มต้นการลงทุนกับกองทุนรวม เพราะสามารถควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในวงจำกัดได้

คำถามต่อมา จะเลือกกองทุนไหนดี แนะนำให้ดูนโยบายการลงทุนว่าตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ไหม ซึ่งกองทุนรวมมีหลากหลาย แต่กองทุนรวมที่ต้องการสร้างเงินกองทุนไว้ใช้ในระยะยาวควรจะเป็นกองทุนแบบผสม

ผู้ลงทุนสามารถผสมเอง หรือให้ผู้จัดการกองทุนผสมให้ เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ กลุ่มตราสารหนี้ และลงทุนในสินทรัพย์ที่คาดหวังในแง่ของผลตอบแทนที่สูงสุดตามอัตราการเติบโตของธุรกิจ คือ หุ้น

จุดที่ต้องระวังของการลงทุนเพื่อการเกษียณและคนวัยใกล้เกษียณ คือ ความเชื่อ หรือ Mindset ของคำว่า เกษียณ ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า คือ การหยุด ซึ่งไม่อยากให้คิดแบบนั้น

อยากให้มองว่า การเกษียณ คือ คนที่เป็นอิสระจากภาระงานประจำ ควรจะมีอนาคตที่มีความหวัง เตรียมตัววางแผนการใช้ชีวิต ใช้ชีวิตแบบเด็ก เพราะจะทำให้เกิดการขวนขวาย อย่ากลัว อย่ากังวล ที่สำคัญคือให้ลงมือทำ

หากอยากลงทุน ให้ลงมือทำ กลัวแต่ว่าจะไม่ได้วางแผนการเงินที่ดีพอ และเงินไม่พอใช้

เลือกสไตล์ลงทุนอย่างไร สร้างชีวิตสบ๊ายสบายหลังเกษียณ

วศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย แนะนำ วัยเก๋า ให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว เพราะตามสถิติการลงทุนในหุ้น 100% ปีที่ราคาลงแรงๆ ไปถึง 25% ซึ่งจะต้องถือหุ้นนั้นต่อไปอีก 5 ปี ราคาจะกลับมาที่เดิม

กรณีเติมตราสารหนี้เข้าไป 50% และมีหุ้นอยู่ 50% ในปีที่หุ้นลงแรงจะลดลงเพียง 6% และใช้เวลาแค่ 2 ปี ในการตีกลับมายืนอยู่จุดเดิม  

ถ้าลงทุนในหุ้น 30% ที่เหลือเป็นตราสารการเงินอื่นๆ ปีที่หุ้นลงแรงๆ จะลงไม่มาก และใช้เวลาในการตีกลับมายืนอยู่จุดเดิมแค่ปีกว่าๆ เท่านั้น

จากสถิติได้คำตอบว่า ควรจะเป็นการลงทุนแบบผสมตราสารหนี้และตราสารทุนหรือหุ้น เพราะจะทำให้ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ

กองทุนผสม มี 2 แบบ คือ กองทุนบาลานซ์ จะมีการจัดสัดส่วนการลงทุน แล้วรักษาสัดส่วนนั้นไว้ ผลตอบแทนอาจจะมีการเหวี่ยงไปมา แต่ไม่เหวี่ยงมากเท่ากับกองทุนหุ้นอย่างเดียว

กองทุนรวมทาร์เก็ตรีเทิร์น ที่มีการวางเป้าหมายของผลตอบแทนที่แน่นอน เมื่อได้ผลตอบแทนตามที่วางไว้ ก็ยกเลิกกองทุน ซึ่งความเสี่ยงไม่มาก

หากจะซื้อกองทุนรวม ไม่จำเป็นต้องซื้อกับ บลจ.เดียว เพราะแต่ละแห่งจะมีสไตล์การบริหารที่แตกต่างกัน แต่ไม่ควรมีมากเกินไป

แนะนำให้ควรมี 2-3 กองทุน จาก 2 บลจ. หรือ 1 บลจ. หากอยากได้ผลผลิตเยอะๆ ต้องไปที่กองทุนหุ้น

การลงทุนในกองทุนรวมหุ้น เหมือนการปลูกต้นไม้ ซึ่งอาจมีบางช่วงที่ยังไม่ให้ผลผลิต ใบอาจร่วง อย่าเพิ่งไปตัดต้นไม้ทิ้ง เพราะหลังจากใบร่วง ใบใหม่จะเริ่มงอกแล้วค่อยๆ เติบโต แต่คนพอเห็นความผันผวน หรือใบไม้ร่วง ก็เริ่มกลัวรีบตัดต้นไม้

ในช่วงที่หุ้นเริ่มดี และขึ้นมามาก ควรจะขายออกไปบ้าง เพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ตั้งแต่ต้น อย่าให้ความโลภและความหิวเข้ามาครอบงำ

สมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ แนะนำว่า ก่อนเลือกสไตล์ลงทุน ต้องรู้ก่อนว่าในแต่ละเดือนใช้เงินเท่าไร และจะต้องมีเท่าไรจึงจะพอ หลังจากนั้นจึงมาจัดพอร์ตลงทุน และเลือกกองทุน

กองทุนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีทั้งแบบที่มีสิทธิในทรัพย์สินหรือเป็นเจ้าของในทรัพย์สินที่ลงทุน (Freehold) และนำรายได้จากการให้เช่ามาจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ปัจจุบันให้ผลตอบแทน 5% ต่อปี  

แบบที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุน (Leasehold) จะลงทุนโดยการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันยังให้ผลตอบแทน 6-7%

สินทรัพย์กลุ่มนี้ถ้าเทียบกับการไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่สิงคโปร์ หรือฮ่องกง หรือไต้หวัน จะได้ผลตอบแทน 2-3%

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ปัจจุบันให้ผลตอบแทนประมาณ 6-7%

กองทุน 2 แบบนี้ สามารถสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ จึงเหมาะกับคนที่ต้องการมีรายได้ที่แน่นอน และยังเหมาะกับคนวัย 70 กลางๆ ไปถึง 70 ปลายๆ เพราะในอนาคตถึงผลตอบแทนจะลดลงมากอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง จะได้ประโยชน์จากมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม (NAV) สูงขึ้น

การแนะนำ 2 กองทุนนี้ โดยเฉพาะกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า คนเกษียณที่มีอสังหาริมทรัพย์ มีที่ดิน ปล่อยเช่า สามารถอยู่ได้ด้วยรายได้ค่าเช่า จึงคิดว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี

แล้วการไปลงทุนต่างประเทศในช่วงนี้ล่ะ ที่ทุกบริษัทมีการออกกองทุนรวมกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก ต้องประเมินความเสี่ยงตัวเองว่ารับได้แค่ไหน และไม่ควรไปทุ่ม หรือลงทุนประเทศใดประเทศหนึ่ง ต้องกระจายการลงทุน เหมาะกับคนที่มีเงินส่วนเกิน

ส่วนใครที่มีเงินไม่มาก สามารถลงทุนในประเทศไทยได้ ผลตอบแทนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นตลาดการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนติดอันดับ 5 ในภูมิภาคนี้

กรณีที่ตอนหนุ่ม-สาว ออมมาไม่พอ แล้วคิดจะไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงๆ เพื่อจะได้ผลตอบแทนสูงๆ นั้น

จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับเงินในกระเป๋า เพราะถ้าเงินก้อนนี้หมด คือ หมดเลย แต่สำหรับคนที่ออมพอใช้จนบั้นปลายชีวิต และมีเงินเหลืออยากจะกระจายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงก็ได้

นอกจากนี้ ลูกหลานควรดูแลผู้สูงอายุด้วย เพราะความเสี่ยงหลักๆ ของคนกลุ่มนี้ คือการถูกหลอกจากมิจฉาชีพ ไม่ใช่เกิดจากการลงทุนผิดพลาด

ทราบวิธีการแล้ว อย่ามัวแต่วางแผนกันนะ ลงมือออมและลงทุนเพื่อสร้างเงินกองทุนให้เพียงพอในการใช้ชีวิตกันเล้ยยย