posttoday

เปิดเส้นทางสู่ที่ปรึกษา สร้างความมั่งคั่ง

19 กุมภาพันธ์ 2561

เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเก็บออมไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณย่อมมีความสำคัญมากขึ้น เพราะคนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเก็บออมไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณย่อมมีความสำคัญมากขึ้น เพราะคนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น คงมิอาจไปรอหวังพึ่งให้คนวัยทำงานมาเลี้ยงดูอย่างดีได้อย่างในอดีต ส่วนหนึ่งก็เพราะค่าครองชีพเดี๋ยวนี้ก็มิใช่ถูกๆ ดังนั้นรายได้ของคนวัยทำงานหลายคนลำพังแค่เลี้ยงตัวเองก็ลำบากแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผลพลอยได้ให้อาชีพที่เกี่ยวกับการให้คำแนะนำการลงทุนเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นทุกวัน เพราะการลงทุนเท่านั้นที่จะช่วยให้เงินออมของเรางอกเงยได้ทันพอใช้วัยเกษียณ วันนี้เราจึงขอมาแนะนำตัวอย่างของผู้ที่อยู่ในเส้นทางอาชีพนี้ มาลองดูกันว่ากว่าจะแนะนำการลงทุนให้คนอื่นได้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ธนากร มนูญผล ผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ธนบดีธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือแบงก์ วัย 28 ปี ซึ่งดูแลการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าบริการ ไพรเวท แบงก์กิ้ง เล่าให้ฟังว่า มีความสนใจทำงานในวงการการเงินมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเห็นคนในครอบครัวคลุกคลีอยู่กับการลงทุนมาโดยตลอด ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้แบงก์คุ้นเคยกับบรรยากาศการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นมาตั้งแต่เล็กๆ และตัวแบงก์เองก็ทดลองเล่นหุ้นตั้งแต่ศึกษาชั้นปีที่ 2

กระทั่งเรียนจบเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนแรกที่จบออกมาก็ไปทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้อยู่ในสายการเงิน แต่แล้วระหว่างนั้นคุณปู่นั่นเองได้จุดประกายความคิดให้กับแบงก์ สนใจอาชีพด้านที่ปรึกษาการเงิน การลงทุน และตัดสินใจสอบ Chartered Financial Analyst หรือ CFA ซึ่งเป็นคุณวุฒิวิชาชีพการเงินและการลงทุนระดับสากล เพื่อเข้าสู่สายงานนี้ เพราะมองว่าซีเอฟเอเป็นใบอนุญาตที่ครอบคลุมพื้นฐานความรู้องค์ประกอบของตลาดการเงินทั้งหมดแล้ว

ธนากร เล่าว่า เขาเริ่มต้นจากความรู้ภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ อ่านหนังสือเตรียมสอบซีเอฟเอได้แค่ 2 หน้าในวันแรก จากนั้นก็พยายามมากขึ้นจนสามารถอ่านเพิ่มได้เป็นวันละ 10 หน้า และ 20 หน้า และในที่สุดก็สอบได้ซีเอฟเอ

ทั้งนี้ ธนากรเริ่มเข้าสู่วงการการเงินเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน เริ่มจากการทำงานในฝ่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี ผลงานเด่นๆ ก็คือการออกกองทุนที่ไปลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นขนาดกลางและขนาดเล็ก กองทุนที่ไปลงทุนในธุรกิจสุขภาพทั่วโลก เป็นต้น

เมื่อใช้ความรู้ไปกับการออกผลิตภัณฑ์ได้ระยะหนึ่ง ก็ตัดสินใจโยกย้ายมาทำงานในตำแหน่งล่าสุด คือเป็นผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ธนบดีธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือก็คือการดูแลการลงทุนให้กับลูกค้ารายใหญ่ (ไพรเวท แบงก์กิ้ง) เหตุที่ย้ายมา ส่วนหนึ่งเพราะจังหวะและโอกาสมาพร้อมกัน

ธนาคารกำลังขยายงานด้านไพรเวท แบงก์กิ้งพอดี และต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานนี้ ซึ่งเมื่อแบงก์ได้พูดคุยกับผู้บริหารของธนาคารแล้วก็รู้สึกมองเห็นภาพธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน คือไพรเวท แบงก์กิ้งมีโอกาสเติบโตสูง ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวทุกปี และคนมีฐานะยุคก่อนเริ่มส่งต่อความมั่งคั่งให้คนรุ่นที่ 2-3 มากขึ้น และคนรุ่นนี้ก็ลงทุนมากขึ้น

เรียกได้ว่าเปลี่ยนรูปแบบงานจากที่เคยเป็นคนสร้างผลิตภัณฑ์มาเป็นคนแนะนำผลิตภัณฑ์ จัดทำกลยุทธ์การลงทุนกลุ่มไพรเวท แบงก์กิ้ง ซึ่งข้อดีของการเคยสร้างผลิตภัณฑ์มาก่อนแล้วมาแนะนำผลิตภัณฑ์ก็คือทำให้มีความรู้เชิงลึกในการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มากขึ้น

“ในสายงานด้านการเงินมีหลายสายงาน ส่วนตัวของผมอยากอยู่ในงานด้านกลยุทธ์การลงทุน ที่ไม่ได้เน้นการขายมากเกินไป จึงมองว่าตัวเองควรไปเป็นผู้ให้คำปรึกษาการลงทุน โดยเชื่อว่างานด้านนี้ในไทยมีทิศทางเติบโตได้อีกมาก และธนาคารก็ลงทุนในบริการไพรเวท แบงก์กิ้ง และการบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้าทั่วไป (เวลท์ แมเนจเมนต์) มาก ถือเป็นพื้นที่ที่กำลังเติบโต” ธนากร กล่าว

เปิดเส้นทางสู่ที่ปรึกษา สร้างความมั่งคั่ง

 

จนถึงวันนี้ ธนากรทำงานกับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยได้ 3-4 เดือนแล้ว ดูแลลูกค้ามากพอสมควร และก็ต้องยอมรับว่างานด้านนี้มีการแข่งขันสูง เพราะธนาคารต่างๆ ก็มุ่งเจาะกลุ่มไพรเวท แบงก์กิ้งทั้งสิ้น เมื่อผู้เล่นในตลาดมากขึ้น ก็ต้องยกระดับมาตรฐานให้เป็นสากลเพื่อให้แข่งขันได้

ข้อดีของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คือ แม้จะดูเหมือนเป็นธนาคารขนาดเล็กในไทย แต่สำหรับระดับภูมิภาคนี้แล้วเป็นธนาคารอันดับต้นๆ สามารถแบ่งปันความรู้ที่มีอยู่ในระบบเครือข่ายธนาคารทั้งภูมิภาคได้ โดยเป้าหมายสำคัญของธนาคารคือการเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการไพรเวท แบงก์กิ้งที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้

ธนากร ชี้ว่า งานด้านที่ปรึกษาการลงทุนไพรเวท แบงก์กิ้งนั้น ถือเป็นงานที่มีเสน่ห์ เพราะต้องแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินตั้งแต่ง่ายๆ ไปจนถึงซับซ้อนให้กับลูกค้าที่มีระดับความเข้าใจแตกต่างกันไป ต้องทำให้ลูกค้าพึงพอใจในบริการที่มี ได้ผลตอบแทนตามที่ลูกค้าคาดหวัง

งานนี้ไม่ได้ต้องการทักษะด้านวิชาการ มีความรู้ทางการเงินอย่างเดียว แต่ยังต้องการทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอีกด้วย เพราะเป็นงานที่ต้องพูดคุยกับลูกค้าจำนวนมาก นอกจากนั้นยังต้องมีความใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา ศึกษาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อไล่ตามให้ทันโลกการเงินที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ซึ่งเรื่องนี้แบงก์มีคุณปู่เป็นต้นแบบ เพราะถึงแม้วันนี้คุณปู่จะมีอายุถึง 82 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยหยุดเรียนรู้ ยังคงอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ดี การศึกษาหาความรู้นั้น ก็คงไม่ใช่เพียงการศึกษาจากในตำรา อีกส่วนสำคัญก็คือการศึกษาผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่ถ่ายทอดให้ ซึ่งโดยส่วนตัวแบงก์เป็นคนที่ชอบการพูดคุยกับผู้ใหญ่ เพราะมองว่า ผู้ใหญ่มีประสบการณ์มาก่อน ประสบการณ์หลายอย่างที่ผู้ใหญ่ผ่านมานั้นอาจจะใช้เวลานานถึง 2 ปีเพื่อเรียนรู้และเข้าใจ แต่เขาสามารถนำมาถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ต่อได้ด้วยการเล่าให้ฟังในเวลาเพียง 15 นาที

“การดูแลและให้บริการลูกค้าด้านการลงทุน ไม่ใช่เรื่องขาวกับดำ แต่เป็นงานที่ต้องใช้ศิลปะ เพราะเราต้องพยายามนำสิ่งที่คนที่อยู่ในโลกการเงินเห็นอยู่ทุกวัน มองเป็นเรื่องปกติ แต่ลูกค้ามองว่าเป็นเรื่องยาก ไปอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจง่าย ผมชอบอยู่กับงานด้านนี้ บางครั้งลูกค้ามีความต้องการแต่ไม่รู้จะเล่าให้เราฟังอย่างไร เราก็ต้องอ่านใจลูกค้าให้ได้ ซึ่งผมชอบช่วยดูแลลูกค้าให้มีความสุขกับการลงทุน ช่วยให้เขาวางแผนการลงทุนได้ตามเป้าหมาย พาลูกค้าไปถึงเป้าหมาย” ธนากร กล่าว

ธนากร กล่าวถึงเป้าหมายในชีวิตของเขาว่า หากเป็นไปได้ในอนาคตก็อยากเป็นที่ปรึกษาการลงทุนอันดับต้นๆ ของวงการนี้ในระดับภูมิภาคเลย

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากมาทำงานด้านนี้ ขอแนะนำว่า หากเป็นไปได้ควรสอบซีเอฟเอให้ได้ เพราะเป็นใบเบิกทางที่ครอบคลุมที่สุดสำหรับโลกการเงิน ซึ่งปัจจุบันข้อมูลการสอบเปิดกว้างมาก ในไทยมีสังคมของผู้ที่สอบซีเอฟเอผ่านแล้วรวมตัวกันอยู่ พร้อมช่วยเตรียมตัว ให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ที่สนใจ

ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยกำลังมีโครงการเวลท์ สตาร์ เปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมในธุรกิจนี้ ซึ่งไพรเวท แบงก์กิ้งก็เป็นงานด้านหนึ่งที่คาดหวังว่าจะเจอคนรุ่นใหม่ที่มีแรงบันดาลใจอยากทำงานด้านนี้เข้ามาเช่นกัน

ด้านความท้าทายของธุรกิจธนาคาร ที่จะมีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น รวมถึงการให้คำแนะนำการลงทุนนั้น ธนากร มองว่า เอไอสามารถวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขได้ดี แต่ในที่สุดแล้วงานด้านที่ปรึกษาการลงทุนก็ยังต้องการคนอยู่ดี

เพราะเอไอไม่ได้มีทักษะด้านการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า และความต้องการบางอย่างของลูกค้าก็ไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นตัวเลขได้หมด ดังนั้นเชื่อว่าเอไอจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ที่ปรึกษาทางการลงทุนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นมากกว่ามาแย่งงาน

ธนากร มองว่า ในโลกการเงินนั้นเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่อยากให้ผู้ที่ทำงานด้านนี้มองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ต้องรู้จักปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี มองในมุมโอกาสที่เทคโนโลยีจะมาทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สุดท้ายนี้ ธนากร ฝากข้อคิดดีๆ ให้กับคนที่อยากมีความมั่งคั่งว่า ที่จริงแล้วคนเราทำงาน ใส่แรงไปกับการทำงานเพื่อหาเงินมามาก แต่ที่ผ่านมาหลายคนกลับลืมเรื่องการบริหารสิ่งที่เราหามาได้ให้ไปต่อได้

อยากให้ลองคิดว่าชีวิตเราช่วงที่มีประสบการณ์ มีแรงก็ยังทำงานหาเงินได้อยู่ แต่ในวันที่อายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของเราก็ลดลงเรื่อยๆ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่เรื่อยๆ มีเพียงการสร้างความมั่งคั่งผ่านการลงทุนเท่านั้นที่จะยังทำให้ความมั่งคั่งของเราเติบโตได้

เมื่อความมั่งคั่งสร้างได้ ทุกคนก็น่าจะให้ความสนใจเรื่องนี้ บริหารความมั่งคั่งของตัวเองตั้งแต่วันที่ยังมีแรงอยู่ เพื่อให้ความมั่งคั่งนั้นเติบโตเพียงพอกับที่เราต้องมีใช้ในวันที่เกษียณอายุแล้ว และถ้ารู้ตัวว่าตัวเองมีความสามารถด้านการแนะนำการลงทุน ก็น่าจะลองนำตัวเองเข้าสู่อาชีพที่ปรึกษาการลงทุนดู จะได้สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและคนอื่นไปได้พร้อมๆ กัน