posttoday

เงินเฟ้อสหรัฐตัวแปรตลาดหุ้น

13 กุมภาพันธ์ 2561

ระยะสั้นเงินเฟ้อสหรัฐจะเป็นตัวแปรชี้ทิศทางตลาดหุ้นโลก

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต email : [email protected]

ระยะสั้นเงินเฟ้อสหรัฐจะเป็นตัวแปรชี้ทิศทางตลาดหุ้นโลก ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐที่เคลื่อนเข้าใกล้จุดการจ้างงานเต็มที่ ได้กระพือความวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐดีดแตะ 2.88% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี และสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดหุ้นทั่วโลก นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐที่ทรุดลงจากจุดสูงสุดถึง 10% ในเวลาเพียงสัปดาห์เศษ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เห็นมาหลายปีแล้ว

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาคองเกรสแห่งสหรัฐได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเรียบร้อย ส่งผลให้ภาวะชัตดาวน์ของหน่วยงานรัฐสิ้นสุดลง และช่วยให้ตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ อย่างไรก็ดี งบประมาณล่าสุดจะเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐอีก 0.7% ของอัตราเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไม่รวมเรื่องการปรับลดภาษี ก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาจึงมีแนวโน้มจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 5% ของจีดีพี ทั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวใกล้จุดการจ้างงานเต็มที่อยู่แล้ว

แรงกดดันเงินเฟ้อจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังจึงมีแนวโน้มไต่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ช่วงนี้จึงต้องเฝ้าติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ

ทางการสหรัฐจะรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันพุธและพฤหัสบดีตามลำดับ

หาก CPI ออกมาสูงกว่าตัวเลขเดือนล่าสุด (ธ.ค.) ที่ 2.1% จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้น

ความมั่งคั่งของโลกที่ลดลงบ้าง จากปรับฐานแรงของตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะทำให้ตุ้นทุนทางการเงินปรับขึ้นบ้าง ยังคงส่งผลกระทบจำกัดต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงกระจายตัวออกไปแทบทุกภูมิภาค

ในส่วนของตลาดหุ้นบ้านเรา ระยะสั้นอาจผันผวนตามตลาดหุ้นโลก ทำให้ดัชนีหุ้นแกว่งย่ำฐานเหนือแนวรับ 1,760 จุด +/- หรืออาจจะต่ำกว่านั้นได้เล็กน้อย ยังมองว่าเป็นการปรับฐานย่อยของแนวโน้มตลาดขาขึ้น มิใช่จุดเริ่มต้นของตลาดขาลง และยังไม่มีเค้าลางสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงขยายตัว อัตราเงินฟ้อต่ำ สภาพคล่องทางการเงินยังอยู่ในระดับสูงเสถียรภาพภายนอกอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง ทั้งดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ที่สำคัญระดับการถือครองหุ้นไทยของผู้ลงทุนต่างชาติอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ต่างชาติมีของจะขายไม่มาก ดังจะเห็นได้จากสัปดาห์ก่อนที่เกิดแรงขายหุ้นทั่วโลก ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายสุทธิเฉลี่ยเพียง 4,289 ล้านบาท/วัน

ปัญหาของตลาดหุ้นไทยคือมูลค่าที่ยังไม่ดึงดูดการลงทุน ค่าชดเชยความเสี่ยงที่อาจวัดได้จาก Yield Gap ที่คำนวณจาก Earning Yield (มาจากส่วนกลับของค่าพีอีที่ใช้กำไร 4 ไตรมาสย้อนหลัง) ลบด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลไทย ยังอยู่ที่ 2.59% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (ข้อมูลตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา) ที่ 4.9%

อย่างไรก็ดี หากใช้ประมาณการกำไรปี 2561 ที่คาดว่ากำไรปกติของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดจะเติบโต 13.4% ค่าพีอีตลาดจะลดเหลือ 15.9 เท่า และทำให้ค่าชดเชยความเสี่ยงขยับสูงขึ้นเป็น 3.73%

การเข้าลงทุนช่วงนี้จึงมีโอกาสทำกำไรไม่มากนัก อย่างไรก็ดี หากราคาหุ้นปรับลดลง หรือบอนด์ยิลด์ปรับลดลง หรือ บจ.ส่วนใหญ่ถูกปรับประมาณการกำไรพร้อมกัน ค่าชดเชยความเสี่ยงจะไต่สูงขึ้น และเป็นโอกาสเข้าลงทุน

ภาพระยะยาวยังเป็นขาขึ้น ยังแนะนำให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ แต่ภาพระยะสั้นตลาดจะแกว่งสร้างฐาน แนะหาจังหวะซื้อหุ้นพื้นฐานดีตามแนวรับสำคัญ 1,760 จุด +/-

ทั้งนี้ ควรศึกษาบทวิเคราะห์รายหุ้นก่อนตัดสินใจลงทุน ผ่านแอพพลิเคชั่น Think ที่พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้ววันนี้ ทั้งในระบบ iOS และ Android

ดาวน์โหลดที่นี่ https://goo.gl/BhhePK

พบกันใหม่ สวัสดีครับ