posttoday

ปรับเป้าหมาย SET Index

15 มกราคม 2561

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

KS Research ได้ทำการปรับวิธีการกำหนดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ใหม่ จากเดิมใช้ Top Down Approach เป็น Bottom Up Approach ซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่า เพราะเป็นวิธีที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาเป้าหมายของหุ้นแต่ละบริษัทที่ KS ออกบทวิเคราะห์ได้ชัดเจนที่สุด

หลังจากที่ KS Research ทำการปรับประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายหุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มขนส่งทางอากาศ รวมถึงปรับราคาเป้าหมายของบริษัทในกลุ่มอสังหาฯ ขึ้น (ติดตามได้ในบทวิเคราะห์กลุ่มสื่อสารและอสังหาริมทรัพย์ วันที่ 8 ม.ค. 2561 และบทวิเคราะห์กลุ่มพลังงานและขนส่งทางอากาศ วันที่ 10 ม.ค. 2561) ทำให้ประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดปรับเพิ่มขึ้นเป็น 111.7 บาท/หุ้น คิดเป็น EPS Growth 5.4% ในปี 2561

KS Research ใช้วิธี Bottom Up Approach ในการคำนวณเป้าหมาย SET index โดยการนำราคาเป้าหมายของบริษัทที่ทำการออกบทวิเคราะห์มาคำนวณหาระดับ SET Index ซึ่งจะได้เป้าหมายที่ 1,835 จุด มี โอกาสปรับขึ้น (Upside) 2.4% จากระดับดัชนี ณ 8 ม.ค. 2561 ที่ 1,792 จุด รวมกับผลตอบแทนเงินปันผลปี 2561 ที่ 2.7% จะได้ผลตอบแทนรวมที่ 5.1% เป้าหมาย SET Index 1,835 จุด เมื่อเทียบกับ EPS ปี 2562 ที่ 120.5 บาท/หุ้น จะได้สัดส่วนราคาต่อกำไรในอนาคต (Forward PER) ปีหน้าที่ 15.2 เท่า

แม้ว่าเป้าหมาย SET Index ของเราจะซื้อขายบนระดับมูลค่าที่สูงที่สุดใน12 ปี แต่ KS Research คาดว่าด้วยภาพของเศรษฐกิจไทยที่จะขยายตัวดีที่สุดในรอบหลายปี การเมืองที่มีความชัดเจนขึ้นหลังเรื่องเลือกตั้ง จะเป็นตัวดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศพลิกมาซื้อคืนหุ้นไทยอีกครั้ง และมีโอกาสจะหนุนดัชนีให้เกินกว่าเป้าหมาย SET index ของเราที่ 1,835 จุด

โดยการหา Upside จากราคาเป้าหมายของเรา KS Research คำนวณหาความสัมพันธ์ระหว่าง EPS กับ SET Index ผ่านสมการถดถอยด้วยข้อมูลย้อนหลัง 17 ปี พบว่ามีค่า R-square สูงถึง 80% เมื่อแทนค่า EPS ซึ่งประมาณการไว้ที่ 111.7 บาท/หุ้น จะได้ค่า SET Index ที่ 1,782 จุด (ราคากลาง)

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูภาพความสัมพันธ์ระหว่าง EPS และ SET Index จะพบว่ามีอยู่หลายครั้งที่ SET Index ออกห่างจากแนวเส้นตรงของสมการถดถอย โดยในช่วงที่ระดับของ SET Index ต่ำกว่าแนวเส้นประดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นตอนที่ตลาดมีปัจจัยลบเข้ามากดดันหนัก เช่น ปี 2549 เกิดความวุ่นวายทางการเมือง จนไปสู่การทำรัฐประหารของ คมช. และปี 2551 เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น

ส่วนช่วงที่ SET Index อยู่เหนือแนวเส้นประ จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวดี รวมไปถึงมีแรงสนับสนุนจากการไหลเข้าของเงินทุนไหลเข้าเหมือนดังเช่นปี 2550 อัตราเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี Growth) ขยายตัวได้ถึง 5.4% ดุลบัญชีการค้าเกินดุลถึง 10.1% ของ GDP ทุนสำรองระหว่างประเทศมีมากถึง 33.3% ของจีดีพี และนักลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อสุทธิใน SET กว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปี 2550 SET Index ไปได้ถึง 858 จุด สูงกว่าที่คำนวณผ่านสมการถดถอยถึง 194 จุด

สำหรับในปี 2561 ซึ่ง KS Research ประเมินว่าเศรษฐกิจในประเทศมีโอกาสขยายตัวถึง 4.0% เป็นการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องจากปี 2560 กอปรกับฐานะทางการเงินของประเทศที่แข็งแกร่ง การเกินดุลบัญชีและการค้าที่คาดว่าจะสูงถึง 7.7% และ 5.8% ของจีดีพี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ 45.2% ของจีดีพี จะเป็นปัจจัยให้กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ SET อีกครั้ง และมีโอกาสที่ SET Index จะขึ้นไปทดสอบที่กรอบบนได้

นอกจากนั้น นับตั้งแต่ปี 2556 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ด้วยเพราะไทยมีความวุ่นวายทางการเมืองมาตลอด ทำให้ปัจจุบันสถานะการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

ดังนั้น ด้วยภาพของเศรษฐกิจในปี 2561 ที่จะขยายตัวดีที่สุดในรอบหลายปี แต่สถานะการถือครองหุ้นของต่างชาติยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นไปได้ที่จะเห็นการซื้อคืนของต่างชาติ ซึ่งถ้าจะให้ยอดซื้อสะสมกลับไปอยู่ที่ระดับเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2552-2560 ต่างชาติสามารถซื้อคืนได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท ด้วยปริมาณเงินระดับนี้จะเป็นผลที่ทำให้ SET Index มีโอกาสขึ้นไปซื้อขายที่กรอบบนที่ 1,976 จุดได้