posttoday

CAPITAL GAIN กับตลาดหุ้น (1)

14 ธันวาคม 2560

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ www.facebook.com/VI.Kitichai

การจัดตั้งตลาดหุ้นของไทยเริ่มขึ้นในเดือน ก.ค. 2505 ในรูปห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยในปีต่อมาได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดและเปลี่ยนชื่อเป็น “ตลาดหุ้นกรุงเทพ” (Bangkok Stock Exchange) ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานในการจัดตั้งที่ดี การซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นกรุงเทพก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ในสมัยนั้นมีบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นน้อยมาก และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เล็กมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน มูลค่าการซื้อขายมีเพียง 160 ล้านบาท ในปี 2511 และ 114 ล้านบาท ในปี 2512 การซื้อขายมีปริมาณลดลงเป็น 46 ล้านบาท ในปี 2513 และลดลงเหลือ 28 ล้านบาท ในปี 2514

การซื้อขายหุ้นกู้มีมูลค่าถึง 87 ล้านบาท ในปี 2515 โดยมูลค่าการซื้อขายหุ้นที่ต่ำสุดมีเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น แต่การซื้อขายหุ้นก็ยังคงไม่เป็นที่สนใจ แล้วในที่สุดตลาดหุ้นกรุงเทพก็ต้องปิดกิจการลง สาเหตุที่ตลาดหุ้นกรุงเทพไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ประกอบกับประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอในเรื่องตลาดทุน

ต่อมาด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงได้เปิดทำการซื้อขายขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 30 เม.ย. 2518 (ที่มา : ข้อมูลจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) และในปัจจุบันมีบริษัทที่จดทะเบียนใน ตลท.และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มากกว่า 700 บริษัท มูลค่าการซื้อขายก็ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาตามลำดับเช่นกัน โดยเฉลี่ยในปัจจุบันที่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท โดยที่เพียงแค่หุ้นบางตัวก็มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 3,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งก็เห็นกันอยู่เกือบทุกวัน

ถ้านับถึงวันนี้ ตลท.ก็เปิดดำเนินการมามากกว่า 42 ปีแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลท.พยายามให้ความรู้กับประชาชนและนักลงทุน ทำให้ผู้มีเงินออมมีทางเลือกในการนำเงินออมไปลงทุนได้มากขึ้น แทนที่จะฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ปัจจุบันนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ ในขณะที่ผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อรวมกับเงินปันผลที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นจะตกอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี

จำนวนนักลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบัญชีนั้น หากไม่รวมบัญชีที่มีชื่อซ้ำ พบว่ามีนักลงทุนในตลาดหุ้นเพียง 6-7 แสนรายเท่านั้น มีนักลงทุนหลายรายที่เปิดบัญชีเล่นหุ้นกับโบรกเกอร์มากกว่า 1 ราย ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มาก คิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยเท่านั้น ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้น จึงทำให้ไม่กล้าเสี่ยงที่จะนำเงินออมมาลงทุนโดยตรง ตั้งแต่มีกองทุนประเภทกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ทำให้ผู้มีเงินออมรู้จักการบริหารเงินออมเพื่อสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้นให้มาก โดยมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ที่ผ่านมา ทั้ง ตลท.และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมอย่างแพร่หลาย ผู้มีเงินออมส่วนหนึ่งจึงนำเงินออมมาลงทุนในกองทุนเหล่านี้เพื่อหวังผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีและผลตอบแทนจากการลงทุน นี่ก็ใกล้สิ้นปีแล้วท่านที่ยังไม่ได้ซื้อกองทุน LTF และ RMF จะรีบซื้อเพื่อจะได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีโดยเฉพาะในช่วงปลายปี

บริษัทจดทะเบียนกองทุนรวมต่างๆ ก็จะเสนอโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม อยู่เป็นประจำ รีบคำนวณจำนวนเงินที่มีสิทธิที่จะซื้อได้ (ไม่เกิน 15% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 แสนบาททั้ง 2 ประเภท) แล้วเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดีทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยสามารถเข้าไปดูที่ www.morningstarthailand.com โดยจัดอันดับผลตอบแทนที่กองทุนทั้งหลายทำได้ในระยะ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี โดยเลือกกองทุนที่ไม่ว่าจะเป็นระยะใดก็ตาม ให้ผลตอบแทนติดอันดับ 1 ใน 3 มาตลอด

แสดงว่ากองทุนนั้นบริหารกองทุนไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว ก็สร้างผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนอื่นๆ ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวมีการเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนแต่ละประเภทไม่ว่าจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ กองทุนตราสารเงิน กองทุนหุ้น กองทุนอสังหาฯ เป็นต้น

ผมแนะนำว่าให้เข้าไปดูเว็บไซต์ดังกล่าวในวันที่จะซื้อกองทุนเหล่านี้ไว้ก่อน เพื่อเวลาที่จะซื้อกองทุนจะได้ทราบว่าจะเลือกซื้อกองทุนไหนดี สิ่งที่สำคัญก็คือถ้ามีเงินออมเหลืออยู่มากกว่าจำนวนเงินที่สามารถที่จะซื้อกองทุน 2 ประเภทดังกล่าวได้ ผมแนะนำว่าควรจะลงทุนในกองทุนอื่นๆ ด้วย เช่น กองทุนที่ลงทุนในอสังหาฯ กองทุนที่ลงทุนในทองคำ หรือกองทุนที่ลงทุนในสาธารณูปโภค เป็นต้น

การที่จะลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ ในสัดส่วนเท่าไรคงต้องขึ้นอยู่กับอายุ และความกล้าได้กล้าเสียของผู้ลงทุนท่านนั้นๆ ด้วย ซึ่งผมได้เขียนสัดส่วนดังกล่าวไว้แล้ว ในหนังสือ “ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน” ลองหามาอ่านดูกันนะครับ เนื้อที่หมดแล้วครับ ยังไม่ทันพูดถึงเรื่องกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น (CAPITAL GAIN) เอาไว้มาพูดถึงเรื่องนี้กันในบทความหน้านะครับ