posttoday

3 ธีมลงทุนปี 2561

10 ธันวาคม 2560

โดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

โดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

มองภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นในปี 2561 น่าจะมีโอกาสปรับขึ้นจำกัด เนื่องจากมูลค่าที่ค่อนข้างแพงและตลาดน่าจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางทั่วโลกทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องและเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น แม้สภาพคล่องจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2561 แต่อัตราการเพิ่มขึ้นก็มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการดำเนินนโยบายของ 3 ธนาคารกลางหลัก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ญี่ปุ่น (บีโอเจ) และสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้อัตราการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องของโลกซึ่งที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/ไตรมาส มาตั้งแต่ปี 2556 ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง (1.5 แสนล้านดอลลาร์/ไตรมาส) ในไตรมาสแรก ปี 2561 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 0 ในไตรมาส 4/2561 และหลังจากนั้นสภาพคล่องของโลกจะเริ่มลดลงในปี 2562 ซึ่งน่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนมากขึ้นในปีหน้า

ขณะที่ความเสี่ยงที่จะเกิดการปรับฐานของตลาดจากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยในตลาดกลับมาเพิ่มขึ้นเร็ว และส่งผลต่อเนื่องไปกดดันระดับมูลค่าที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาจากภาพการลงทุนดังกล่าว แนะนำให้เน้นลงทุนในตลาด/กลุ่ม ดังนี้

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังซื้อขายระดับมูลค่าที่ยังดูสมเหตุสมผลกว่าตลาดอื่นโดยดัชนี NIKKEI225 ในปัจจุบันซื้อขายที่สัดส่วนราคาต่อกำไรอนาคต (Forward P/E) 17.8 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 16.9 เท่า ในขณะที่ราคาต่อมูลค่าบัญชี (P/B) ยังอยู่ที่ระดับ 1.8 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นยุโรป (STOXX600) และสหรัฐ ซึ่งซื้อขายที่ P/B 1.9 เท่า และ 3.2 เท่า ตามลำดับ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เงินเฟ้อต่ำ ดังนั้นบีโอเจไม่จำเป็นจะต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นมากเท่ากับธนาคารกลางอื่น ยิ่งไปกว่านั้นการที่เงินเฟ้อฟื้นตัวขึ้นจะส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง จะเป็นปัจจัยบวกต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นอีกด้วย

กลุ่มธุรกิจการเงินในสหรัฐ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น มองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือน ธ.ค.นี้ และต่อเนื่องอีก 3 ครั้งในปีหน้า ซึ่งจะทำให้รายได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายกฎระเบียบของสถาบันการเงิน

ด้านมูลค่าหุ้นในกลุ่มการเงินของสหรัฐยังซื้อขายที่ Forward P/E ที่ 14.6 เท่า ซึ่งนับว่ายังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับในอดีต และยังต่ำกว่าดัชนี S&P500 โดยรวมที่ซื้อขายที่ P/E ราว 18 เท่า

กลุ่มเฮลท์แคร์สหรัฐ

หุ้นในกลุ่มเฮลธ์แคร์มีกำไรสม่ำเสมอและกำไรผันผวนต่ำแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งน่าสนใจในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนในปีหน้า นอกจากนั้นยังมีการเติบโตของกำไรที่สูงมาก เนื่องจากได้ประโยชน์จากเมกะเทรนด์ของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะขับเคลื่อนกำไรต่อไปในระยะยาว โดยหากประเมินจากการเติบโตของกำไรในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์มีกำไรเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี มากกว่าดัชนี S&P500 ที่กำไรขยายตัวเฉลี่ย 6% ต่อปี

มูลค่าหุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์ที่ Forward P/E 16.5 เท่า ต่ำกว่าดัชนี S&P500 อยู่ราว 8% ซึ่งหากเทียบกับในอดีตที่หุ้นในกลุ่มนี้เคยซื้อขายที่ P/E สูงกว่าดัชนีโดยเฉลี่ย 20% ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่สูงกว่าก็ยิ่งทำให้หุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์น่าสนใจเพิ่มขึ้นไปอีก

นอกจากนี้นโยบายปฏิรูปภาษีของสหรัฐซึ่งน่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า จะเอื้อประโยชน์ให้หุ้นในกลุ่มที่มีกำไรเก็บอยู่นอกประเทศเป็นจำนวนมาก  ซึ่งหากมีการนำกำไรกลับเข้ามาในประเทศก็อาจมีการประกาศเพิ่มการจ่ายปันผล หรือการซื้อหุ้นคืนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น

ด้วยมูลค่าของตลาดหุ้นที่อยู่ในระดับสูงทั่วโลกมองว่ากลยุทธ์การลงทุนในปี 2561 ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงหุ้นที่ปรับขึ้นร้อนแรงในระยะสั้น เน้นลงทุนในตลาดหรือกลุ่มที่มูลค่ายังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และควรติดตามตลาดอย่างใกล้ชิดและหาจังหวะขายเพื่อทำกำไรระยะสั้นและลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน