posttoday

กลยุทธ์การลงทุนใน RMF LTF

19 พฤศจิกายน 2560

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธ์ CFP

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธ์ CFP

จริงๆ แล้วการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนอื่นๆ หรือแม้แต่การลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วๆ ไป มีกลยุทธ์การลงทุนหลักที่ใกล้เคียงกัน อย่างเช่น แบ่งเป็นง่ายๆ ได้ 2 แบบ คือ การเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานและการเลือกจังหวะการลงทุนด้วยปัจจัยเทคนิค

สำหรับคนที่ไม่มีเวลาหรือไม่มีความรู้ในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานทางเลือกหนึ่งที่ดีน่าสนใจ คือ การลงทุนในกองทุนรวม

ส่วนคนที่ไม่มีความรู้ในการวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค คือ ไม่รู้จะลงทุนในจังหวะไหนดี จะซื้อก็กลัวติดดอย จะไม่ซื้อก็กลัวตกรถ ยิ่งเป็น RMF กับ LTF ยิ่งแล้วใหญ่ หลายคนรอซื้อตอนต่ำสุด ปรากฏว่าหุ้นขึ้นตลอดทั้งปีอย่างเช่นปีนี้ สุดท้ายต้องซื้อของแพงตอนปลายเพราะไม่งั้นไม่ได้ลดหย่อนภาษี

สำหรับ RMF ปัญหานี้ไม่น่ากังวลเท่าไร เพราะเรายังใช้วิธีซื้อ RMF ที่เป็นกองทุนพันธบัตร หรือตราสารหนี้ หรือตลาดเงิน พักเงินไว้ก่อน รอเมื่อไหร่หุ้นตกค่อยสับเปลี่ยนกองทุนมาลงทุนใน RMF ที่เป็นกองทุนหุ้นก็ได้

แต่ถ้าเป็น LTF ก็คงต้องทำใจซื้อตอนหุ้นแพงไป เพราะ LTF มีนโยบายหลักอย่างเดียว คือ ต้องลงทุนในหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต่ำกว่า 65% แล้วอย่างนี้คนที่ไม่มีความรู้ทางเทคนิคควรทำอย่างไรดี

ทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ทางเทคนิคก็มีหลายวิธี ได้แก่

- กลยุทธ์การลงทุนแบบ Lump Sum

- กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA หรือ Dollar Cost Average

- กลยุทธ์การลงทุน Value Average (VA)

- กลยุทธ์การลงทุน Enhanced Dollar Cost Average (EDCA)

- กลยุทธ์การลงทุน Threshold Control (TC)

กลยุทธ์การลงทุนแบบ Lump Sum เป็นกลยุทธ์ที่เราจะลงทุนเงินที่เราตั้งใจจะลงทุนทั้งหมดในครั้งเดียวโดยทั่วไปจะลงทุน ณ วันแรกของงวดการลงทุน อย่างเช่น จะซื้อ RMF หรือ LTF ทั้งหมดทีเดียวเลยตอนต้นปี ข้อดีของวิธีนี้ก็คือง่าย ไม่ต้องเก็งตลาดให้ยุ่งยากและถ้าหุ้นขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี การลงทุนวิธีนี้จะเป็นการลงทุนที่ต้นทุนต่ำสุด ในทางกลับกัน ถ้าหุ้นลงตลอดทั้งปี การลงทุนวิธีนี้จะเป็นการลงทุนที่ต้นทุนสูงสุดเช่นกัน

กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA หรือ Dollar Cost Average เป็นกลยุทธ์ที่เป็นที่นิยมกันมากเหมือนกัน คือ เป็นกลยุทธ์ที่เราจะลงทุนด้วยเงินจำนวนเดียวกันในงวดระยะเวลาที่เท่าๆ กัน เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส รายครึ่งปี หรือรายปี อย่างเช่น ลงทุนทุกวันจันทร์ หรือทุกวันที่ 16 ของเดือน หรือทุกสิ้นเดือน มี.ค. มิ.ย. ก.ย. ธ.ค. ฯลฯ

ข้อดีของวิธีนี้ คือสามารถลดความเสี่ยงจากการเก็งตลาดและแก้ข้อเสียของกลยุทธ์การลงทุนแบบ Lump Sum ที่ลงทุนเสร็จ หุ้นราคาลงเรื่อยๆ ได้ และเพราะลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าๆ กันทุกงวด เมื่อราคาหลักทรัพย์หรือกองทุนลดต่ำลง เราก็จะได้จำนวนหลักทรัพย์หรือจำนวนหน่วยลงทุนมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน เมื่อราคาหลักทรัพย์ หรือกองทุนสูงขึ้น เราก็จะได้จำนวนหลักทรัพย์หรือจำนวนหน่วยลงทุนน้อยลง

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ DCA เป็นระบบที่ทำการซื้อหลักทรัพย์เพิ่มอย่างเดียว ไม่มีการขายหลักทรัพย์เพื่อรับรู้กำไรระหว่างงวดการลงทุน แต่ถ้าหลังจากซื้อหลักทรัพย์ไปแล้ว ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลง หรือตลาดเป็นช่วงขาลง วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ต้นทุนสูงเช่นกัน

ครั้งหน้าค่อยมาคุยวิธีที่เหลือครับ