posttoday

วางแผนการลงทุนลดหย่อนภาษีปลายปี

13 พฤศจิกายน 2560

โดย...สานุพัฐ รัตนมโนชัย นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.ภัทร

โดย...สานุพัฐ รัตนมโนชัย นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.ภัทร

ในช่วงปลายปีของทุกปี จะเห็นนักลงทุนกลับมาให้ความสนใจในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) อีกครั้ง ถ้ายังจำกันได้ในปีที่แล้ว กระทรวงการคลังได้มีการปรับเงื่อนไขสำคัญ 3 ประเด็น คือ

1) ขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF ต่อไปจนถึงปี 2562 2) ปรับเงื่อนไขการถือครองที่นานขึ้นจากเดิม 5 ปีปฏิทิน เป็น 7 ปีปฏิทิน (หรือนักลงทุนต้องถือครองกองทุน LTF อย่างน้อยที่สุด 5 ปีกับอีก 2 วันทำการ) และ 3) ปรับฐานรายได้ในการคำนวณเป็น “เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น

แม้ว่าจะมีการปรับเงื่อนไขการถือครองที่นานขึ้น แต่การลงทุนใน LTF รวมถึง RMF ก็ยังถือว่ามีความน่าสนใจอย่างมากจากสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถลดหย่อนได้สูงสุดถึง 35% ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีของรายได้หน่วยสุดท้ายของแต่ละบุคคล นั่นหมายถึงนอกเหนือจากผลตอบแทนจากการลงทุนนักลงทุนจะเสมือนได้ผลตอบแทนเพิ่มเติมจากส่วนลดภาษีในปีแรกที่ลงทุน นักลงทุนจึงไม่ควรพลาดที่จะใช้โอกาสนี้ในการวางแผนภาษีจากการลงทุนในทั้ง LTF และ RMF

ในส่วนของ LTF สินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุนส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในเฉพาะตราสารทุนในประเทศ นักลงทุนสามารถตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนประเภท Passive หรือ Active (การจัดการ) ได้ โดยหากเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพและผู้จัดการกองทุนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนส่วนในระยะยาวได้ กองทุนประเภท Passive จะเป็นตัวเลือกที่ดีจากค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า ในทางกลับกัน หากนักลงทุนเชื่อว่าผู้จัดการกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดนักลงทุนก็ควรเลือกกองทุนประเภท Active ที่ให้ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นที่จะลงทุนในแต่ละช่วงเวลาโดยคาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดแม้จะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่า

นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถเลือกกองทุนที่มีลักษณะการลงทุนที่แตกต่างกันเพื่อกระจายความเสี่ยงของแต่ละสไตล์การลงทุนทั้งกองทุนที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาด กองทุนที่มีเน้นหุ้นที่การเติบโตสูง กองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ หรือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก เป็นต้น

สำหรับการลงทุนในกองทุน RMF นอกจากนักลงทุนจะสามารถลงทุนในตราสารทุนในประเทศแล้ว นักลงทุนยังสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น อาทิ ตราสารหนี้ในประเทศ-ต่างประเทศ ตราสารทุนต่างประเทศ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริม ทรัพย์ (รีท) รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์และทองคำ นักลงทุนสามารถใช้ RMF เป็นส่วนของเครื่องมือในการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสผ่านลงทุนในต่างประเทศ โดยควรพิจารณาการลงทุนในภาพรวมซึ่งรวมสัดส่วนการลงทุนใน LTF และ RMF เข้าไปด้วย

สิ่งที่นักลงทุนต้องระมัดระวังในการลงทุน LTF และ RMF คือ

1) การซื้อเกินสัดส่วน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 5 แสนบาท โดยส่วนที่เกินนอกจากจะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้แล้ว อาจยังต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย

2) ในส่วนของ RMF วงเงิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีหรือไม่เกิน 5 แสน บาท จะต้องคิดรวมกับรายการลดหย่อนอื่นๆ ได้แก่เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

3) การทำผิดเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งรวมถึงการเว้นไม่ลงทุนใน RMF ติดต่อกันเกิน 1 ปี จะส่งผลให้นักลงทุนต้องคืนภาษีย้อนหลัง หรืออาจต้องชำระค่าปรับและดอกเบี้ยเพิ่มเติมตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร