posttoday

หุ้นผันผวนต่ำคำตอบที่ใช่ของใคร

07 พฤศจิกายน 2560

โดย...อำพล โฆษิตาภรณ์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส ฝ่ายตราสารทุน บลจ.ธนชาต

โดย...อำพล โฆษิตาภรณ์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส ฝ่ายตราสารทุน บลจ.ธนชาต

ตามปกติเวลามีใครถามว่าจะลงทุนอะไรดี หรือมีกองทุนไหนบ้างที่เหมาะกับตัวเองบ้าง ซึ่งผู้แนะนำการลงทุนหรือที่ปรึกษาทางการเงินก็จะพิจารณาความสามารถในการรับความเสี่ยงหรือพฤติกรรมการลงทุนของลูกค้าเป็นประเด็นหลักๆ ในการเลือกกองทุนให้และในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสินทรัพย์ไหน ที่เหมาะกับผู้ลงทุนทุกคน เพราะแต่ละคนก็มีเงินลงทุนต่างกัน ทนการขาดทุนได้ไม่เท่ากัน และมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย บางคนก็เน้นระยะยาวลงทุนไว้ใช้ยามเกษียณ บางคนก็ต้องการเพียงเป้าหมายระยะสั้น ซื้อรถ ซื้อบ้าน ซึ่งทำให้สินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนไม่เหมือนกัน

ในประเทศไทย สำหรับธุรกิจกองทุนรวมจะมีการกำหนดระดับความเสี่ยงของผู้ลงทุนเอาไว้ 5 ระดับ ตั้งแต่ 1-5 แบ่งเป็นเสี่ยงต่ำจนถึงเสี่ยงสูงมาก และแบ่งระดับความเสี่ยงของกองทุนออกเป็น 8 ระดับ ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุน

เบื้องต้นได้จากการพิจารณาระดับความเสี่ยงของกองทุนและระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถลงทุนในกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่าตัวเอง เพราะผู้ลงทุนสามารถผสมสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ได้อย่างเช่น หากเป็นผู้ลงทุนเสี่ยงต่ำก็สามารถลงทุนหุ้นไทยแต่ไม่ควรเกิน 10% ของพอร์ตตามคำแนะนำพื้นฐานคงมีคำถามว่าทำไมเราต้องผสมหุ้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนบ้าง นั่นเป็นเพราะว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นในระยะยาวให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างเงินฝากและตราสารหนี้อย่างมีนัยสำคัญ การหลีกเลี่ยงไม่ลงทุนในหุ้นเลยถือเป็นการเสียโอกาสรับผลตอบแทนอย่างหนึ่ง

แต่การลงทุนในหุ้นไม่ใช่มีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะสิ่งที่คู่กับการลงทุนในหุ้นคือ ความผันผวนที่ค่อนข้างสูง

มีโอกาสได้กำไรสูง และมีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน ทำให้มีผู้ลงทุนจำนวนมากยังติดอยู่กับเงินฝากและตราสารหนี้ไม่ยอมออกมาหาโอกาสกับการลงทุนในหุ้น เพราะกลัวขาดทุนนั่นเอง บลจ.ธนชาต เห็นช่องว่างในส่วนนี้ จึงได้นำเสนอกองทุน Low Beta เข้ามาสู่ธุรกิจกองทุนรวมคำว่า “Low Beta” มาจากการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกับการเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) โดยค่าทางสถิติ Beta ของตลาดหลักทรัพย์จะมีค่าเท่ากับ 1 ดังนั้นหุ้นตัวไหนที่ค่า Beta ต่ำกว่า 1 จึงถูกนิยามให้เป็น “Low Beta”

ในอดีตผู้ลงทุนอาจมองว่าหุ้นประเภท Low Beta เป็นหุ้นที่น่าเบื่อ ลงทุนต้นปีมาจนถึงปลายปี ราคาก็ไม่เคลื่อนไหวมากนัก แต่หลังจาก บลจ.ธนชาต เริ่มต้นเปิดขายกองทุนประเภทนี้เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้หลายคนเริ่มคุ้นชื่อ Low Beta และมีมุมมองที่เปลี่ยนไป เพราะถึงแม้จะชื่อ Low Beta แต่ผลตอบแทนที่ได้รับไม่ได้ Low ตาม ยิ่งเฉพาะในช่วงที่ตลาดผันผวนหนักๆ ติดลบเยอะ กองทุนประเภทนี้จะทำผลงานได้ดีกว่าตลาดโดยรวมมาก บางครั้งตลาดติดลบ แต่กองทุนเป็นบวกก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

สาเหตุที่ทำให้กองทุนมีลักษณะเช่นนี้

การเลือกหุ้นในกลุ่มนี้มีเกณฑ์หลักๆ ที่ผู้จัดการกองทุนนำมาพิจารณา คือ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (อาร์โออี)/อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ดี/อี)/ประเภทธุรกิจ/ความสม่ำเสมอในการจ่ายปันผล

ถามว่าทำไมเราถึงต้องพิจารณาประเภทธุรกิจด้วย? ปัจจัยหลักๆ ก็เพื่อให้เห็นภาพชัดกว่าค่าสถิติที่ผ่านมา

อย่างในบริษัทที่อยู่ในธุรกิจประเภทโรงไฟฟ้า ถ้าพิจารณาเฉพาะในส่วนของดี/อีจะเห็นว่ามีหนี้อยู่สูงมาก แต่หากเรารู้ถึงธรรมชาติของธุรกิจประเภทนี้เราจะชั่งน้ำหนักได้ว่า ในส่วนของสัดส่วนหนี้ที่สูงนั้นมาจากการลงทุน แต่โดยปกติธุรกิจนี้จะมีรายได้ที่มั่นคง มีสัญญาซื้อขายในระยะยาวมีการการันตีรายได้ และมักมีคู่แข่งน้อยราย (ส่วนหนึ่งเพราะเงินลงทุนที่สูงนั่นเอง)

ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนจะนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาเพื่อหาบริษัทที่แม้จะถูกนิยามว่า Low Beta แต่ก็มีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคตได้อย่างยั่งยืนได้

สำหรับผู้ที่ลงทุนด้วยตนเอง อาจลองพิจารณาเงื่อนไขการลงทุนต่างๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ แต่หากว่าผู้ลงทุนไม่อยากติดตามหรือพิจารณาลงทุนด้วยตนเอง หรืออาจมีข้อจำกัดด้านเงินลงทุนเริ่มต้น ก็อยากแนะนำให้ลงทุนหุ้นประเภทนี้ผ่านกองทุนรวมได้ เพราะในอีกแง่หนึ่งกองทุนรวมก็คือ เครื่องมือในการลงทุนสําหรับผู้ลงทุน ที่ไม่อยากเสียเวลาหรือยังมีความชํานาญในการลงทุนน้อย เพราะกองทุนรวมจะมีให้ผู้จัดการกองทุนที่มีความเป็นมืออาชีพ บริหารพอร์ตลงทุนอย่างเป็นระบบ มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานของรัฐทำให้มั่นใจได้

Low Beta เป็นคำตอบที่ใช่ของใครก็ต้องบอกว่าเป็นคำตอบที่ใช่ของผู้ที่ต้องการหาโอกาสรับผลตอบแทนจากหุ้น แต่ยังทนรับการขาดทุนหนักๆ ไม่ได้ หรือผู้ที่กังวลว่าจะมีความผันผวนมากๆ ในตลาดหุ้น ก็อาจสับเปลี่ยนมาลงทุนกองทุนประเภทนี้ได้เช่นกัน