posttoday

รัฐบาลเอาจริง เลื่อนชั้นไทยประเทศน่าลงทุน

03 พฤศจิกายน 2560

การเลื่อนชั้นประเทศไทยให้มีความง่ายในการทำธุรกิจมากขึ้น นับเป็นข่าวดีของประเทศไทยและของรัฐบาล

การประกาศอันดับความยากง่าย

ในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing business) ประจำปี 2561 ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เลื่อนอันดับประเทศไทยขึ้นมาเป็นประเทศที่มีความยากง่ายในการทำธุรกิจเป็นอันดับที่ 26 จากการเปรียบเทียบ 190 ประเทศของโลก เลื่อนชั้นราวกับขึ้นลิฟต์จากปี 2559 ที่มีอันดับที่ 46

อันดับที่ปรับใหม่นี้ ทำให้ประเทศไทยถือว่าไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีการพัฒนาอันดับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากเทียบลำดับในอาเซียนก็เป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ ซึ่งได้อันดับที่ 2 และมาเลเซียที่ได้อันดับ 24 โดยไทยได้คะแนนดีขึ้น 8 ใน 10 ตัวชี้วัด

ตัวชี้วัดที่ไทยปรับดีขึ้นโดดเด่นที่สุด คือคะแนนด้านการเริ่มต้นธุรกิจที่ขยับจาก 87.01 คะแนน หรืออันดับ 78 มาอยู่ที่ 92.34 คะแนน หรืออันดับ 36 ผลพวงจากการยกเลิกการประทับตราบริษัทในใบหุ้น ยกเลิกข้อกำหนดการขออนุมัติระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัทจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำให้ลดเวลาจัดตั้งธุรกิจจากเดิม 25.5 วันได้เหลือ 4.5 วัน

สำหรับด้านอื่นที่ดีขึ้นเช่นกันคือ การขอใช้ไฟฟ้า การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย การชำระภาษี และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ขณะที่การจดทะเบียนทรัพย์สินคะแนนดีขึ้นจาก 68.34 คะแนน เป็น 68.75 คะแนน แต่อันดับคงเดิม การค้าระหว่างประเทศ คะแนนคงเดิม 84.10 คะแนน แต่อันดับลดลงจากอันดับ 56 ไปอยู่ที่อันดับ 57

การเลื่อนชั้นประเทศไทยให้มีความง่ายในการทำธุรกิจมากขึ้น นับเป็นข่าวดีของประเทศไทยและของรัฐบาล หลังจากที่มีความพยายามแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงกฎระเบียบในด้านการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี เพื่อที่จะดึงให้เกิดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ไร้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและไม่มีการลงทุนปรับประสิทธิภาพการผลิตนานนับ 10 ปี ตั้งแต่เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้อยลง

ผลการประเมินที่ดีขึ้นในปีนี้มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้เป็นประเด็นสำคัญของการปฏิรูป 2.การออกคำสั่ง คสช.ที่ 21/2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 ที่ปรับปรุงกฎหมายสำคัญ 5 ฉบับ 3.รวมทั้ง พ.ร.บ.ล้มละลาย และส่วนราชการต่างๆ ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้มากขึ้น ซึ่งเวิลด์แบงก์ระบุว่า สาเหตุที่อันดับของไทยปรับขึ้นมาจากการยกเลิกขั้นตอนการขอตราประทับบริษัท ซึ่งลดความยุ่งยากในการทำธุรกิจ รวมถึงเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อด้วยการขยายขอบเขตสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

แต่อันดับที่ดีขึ้นนี้ ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของรัฐบาลมากนัก เพราะในขณะที่ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นมาถึง 20 อันดับ แต่ประเทศคู่แข่งในอาเซียนก็ปรับตัวไล่มาติดๆ คือ อินโดนีเซียขยับอันดับเร็วมากขึ้นมา 19 ตำแหน่ง มาอยู่ที่ 72 จาก 91 ส่วนเวียดนามอันดับดีขึ้น 14 ตำแหน่ง มาอยู่ที่ 68 จาก 82 และมาเลเซียอยู่อันดับ 2 ในอาเซียน คือ อันดับที่ 24  ทำให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจถึงกับออกปากว่า ในการจัดอันดับครั้งหน้า อันดับของประเทศไทยจะต้องดีขึ้นกว่านี้  โดยตั้งเป้าว่าประเทศไทยควรจะขึ้นเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน

เหตุผลที่รัฐบาลยังไม่อาจพอใจในอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ เพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลหลังจากนี้ไป จะต้องให้ความเข้มข้นกับการผลักดันการลงทุนในโครงการของรัฐบาลให้มากยิ่งขึ้น รัฐบาลประกาศเร่งรัดการลงทุนมานาน แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนโครงการขนาดใหญ่กลับเกิดขึ้นจริงน้อยมาก ซึ่งมาจากหลายๆ ปัญหา รวมถึงความยากและขั้นตอนที่มากมายเป็นอุปสรรคที่ทำให้นักลงทุนเบื่อหน่ายและไม่อยากลงทุนในไทย แถมยังหนีไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของไทยแทน

ในปีนี้การลงทุนที่ไม่มีเกิดขึ้น ถูกกลบด้วยการส่งออกที่ขยายตัวดีเกินคาด เพราะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของไทยฟื้นตัว ดีจนสามารถทำให้ต้องปรับตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2560 ถึง 2 ครั้งในปีนี้

แต่ทว่าในปี 2561 รัฐบาลและหน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจต่างๆ มีความเห็นตรงกันที่เริ่มไม่แน่ใจว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ดีเป็นตัวฉุดดึงเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้อีกหรือไม่ จึงหันกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในประเทศให้เข้มข้นขึ้นโดยการจะผลักดันการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งผลักดันให้เกิดโครงการเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เป็นรูปธรรม และการจะเชิญต่างชาติมาลงทุนในไทยจะทำได้ง่ายหากประเทศไทยมีอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจต่ำ

ที่รัฐบาลต้องสนใจและโหมทำทุกอย่างเพื่อให้อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก เพราะดัชนีนี้ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศนั้นๆ การประเมินระดับความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจหรือการดำเนินธุรกิจในประเทศใด นักลงทุนต่างชาติมักพิจารณาตั้งแต่ความสะดวกในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ และเมื่อเกิดปัญหาทางธุรกิจ ว่ามีขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการ การอำนวยความสะดวก ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และกฎระเบียบของภาครัฐที่สนับสนุนต่อการประกอบธุกิจหรือไม่อย่างไร

ธนาคารโลก  ได้จัดทำดัชนีชี้วัดความยากง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ดัชนีนี้ครอบคลุมการประกอบธุรกิจตั้งแต่การเริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจ ระหว่างดำเนินธุรกิจ จนถึงการปิดกิจการ ประกอบด้วย การเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการแก้ปัญหาการล้มละลาย โดยมีเกณฑ์การพิจารณา 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ขั้นตอนในการดำเนินการที่ง่าย ระยะเวลาในการดำเนินการที่รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ต่ำ และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินการ

เมื่อดัชนีความยากง่ายมีความสำคัญต่อการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศ รัฐบาลก็มีหน้าที่จะต้องรับฟังความเห็นจากนักธุรกิจ และธนาคารโลก เพื่อขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคออกไป ซึ่งจะต้องปรับระบบการทำงานของภาครัฐอย่างเข้มข้นมากขึ้นไปอีก อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายการค้าการลงทุนที่ดำเนินการไปแล้ว อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดตามเป้าหมายของรัฐบาล