posttoday

เช็กให้ดีก่อนลงทุน

17 ตุลาคม 2560

โดย...ปริย เตชะมวลไววิทย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน ก.ล.ต.

โดย...ปริย เตชะมวลไววิทย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

หุ้นที่ขายต่อประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) มักเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เห็นว่า เมื่อเข้าเทรดในตลาด ราคาจะขึ้นและสามารถทำกำไรได้ในระยะสั้น เวลาได้ยินข่าวตามสื่อหรือข่าวในแวดวงเพื่อนฝูงว่าจะมีบริษัทนั้นบริษัทนี้เอาหุ้นเข้าตลาด จึงมักมีคนสนใจและติดตามหาโอกาสจองซื้อหุ้นไอพีโอที่ว่ากัน ยิ่งเป็นช่วงที่ตลาดขาขึ้น ก็จะเห็นว่ามีบริษัทที่เตรียมตัวมาระยะหนึ่งแล้วทยอยทำไอพีโอกันอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะสะท้อนว่ามีบริษัทจำนวนมากขึ้นใช้ตลาดทุนไทยในการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ และการมีหุ้นจดทะเบียนเพิ่มขึ้นก็ถือเป็นการเพิ่มสินค้าในตลาดทุนและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนอีกด้วย

ผมอยากจะขอเตือนให้ผู้ลงทุนที่สนใจหุ้นไอพีโอต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีใช้โอกาสเกาะกระแสข่าวไอพีโอไปหลอกผู้ลงทุนหลายราย โดยอ้างว่ามีหุ้นไอพีโอ ทั้งที่ไม่มี ทำให้ผู้ลงทุนต้องสูญเงินไปจำนวนมาก โดยพบว่าหลายกรณีคนที่หลอกมักเป็นผู้แนะนำการลงทุนหรือเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ที่สังกัดบริษัทหลักทรัพย์นั่นเอง

ผมขอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จริงเพื่อความชัดเจน กรณีแรกมาร์เก็ตติ้งที่มีเจตนาไม่ดีจะใช้โอกาสไปชักชวนลูกค้าให้ซื้อหุ้นไอพีโอ ซึ่งได้มีการยื่นแบบแสดงรายการ (ไฟลิ่ง) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จริง โดยไปหลอกลูกค้าว่าจะหาหุ้นไอพีโอนั้นมาให้ หรือมีแหล่งที่จะได้หุ้นไอพีโอนั้นมาในราคาถูก ทั้งที่บริษัทหลักทรัพย์ต้นสังกัดของตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องในธุรกรรมไอพีโอนั้นเลย คือไม่ได้เป็นทั้งคนขาย (ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์) และไม่ได้เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินแต่อย่างใด และพอลูกค้าหลงเชื่อว่าจะได้หุ้น ก็จะให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของมาร์เก็ตติ้ง

เมื่อหุ้นเข้าซื้อขายแล้วลูกค้าต้องการจะสั่งขายหุ้น ก็จะเอาเงินที่ไปหลอกจากลูกค้าคนอื่นมาคืนให้ ทำเช่นนี้เพื่อให้ลูกค้าคนแรกตายใจว่าเป็นเงินจากการขายหุ้น จากนั้นก็หลอกให้ไปลงทุนในหุ้นไอพีโอตัวอื่นอีก หรือบางกรณีก็ใช้วิธีขอผัดผ่อนไปเรื่อยๆ สรุปว่าหุ้นก็ไม่ได้ แถมสูญเงินไปหลักล้าน

กรณีเหล่านี้มาร์เก็ตติ้งมีเจตนาหลอกลวงและนำทรัพย์สินของลูกค้ามาเป็นของตนเองนั้น ถือเป็นการฉ้อโกง นอกจากจะมีโทษในคดีอาญาแล้ว ยังถูกเพิกถอนใบอนุญาตสูงสุด 10 ปีอีกด้วย

อีกกรณีที่พบ คือ มาร์เก็ตติ้งไปชักชวนให้ลูกค้าซื้อหุ้นนอกตลาด เนื่องจากบางบริษัทมีข่าวว่าเจ้าของบริษัทมีแผนจะยื่นไอพีโอ มาร์เก็ตติ้งจึงไปชวนและให้สัญญากับลูกค้าว่าหุ้นจะเข้าตลาดภายในเท่านั้นเท่านี้เดือน แต่ภายหลังหุ้นไม่ได้เข้าตลาดจริงแต่อย่างใด ยังดีที่กรณีที่พบมีการออกใบหุ้นให้ลูกค้าจริง แต่ประเด็นคือไปหลอกลูกค้า มาร์เก็ตติ้งนั้นจึงมีความผิดฐานแสวงหาผลประโยน์จากลูกค้า เพราะเมื่อลูกค้าตกลงซื้อหุ้น มาร์เก็ตติ้งก็ได้ค่าหัวคิว กรณีนี้มาร์เก็ตติ้งถูก ก.ล.ต.สั่งพักการให้ความเห็นชอบ ทำให้ปฏิบัติงานเป็นมาร์เก็ตติ้งไม่ได้ไประยะหนึ่ง

กลุ่มผู้ลงทุนที่ถูกชักชวน มักเป็นลูกค้าที่ไว้ใจและเชื่อถือมาร์เก็ตติ้งมานาน จึงไม่ได้สอบถามข้อมูลให้ละเอียดถึงที่มาที่ไปของหุ้นไอพีโอให้ดีก่อนที่จะลงทุน

ผมจึงขอแนะนำว่า หากถูกชักชวนให้ลงทุนหุ้นไอพีโอควรเช็กข้อมูลให้ดี สอบถามผู้ที่มาชักชวนให้ชัดว่า หุ้นบริษัทใด อยู่ในขั้นตอนใด แล้วคนที่ชวนเราเขาได้หุ้นมาได้อย่างไร บริษัทหลักทรัพย์ที่เขาสังกัดเกี่ยวข้องกับดีลไอพีโอนั้นอย่างไร เป็นต้น หรือหากเป็นหุ้นที่ยื่นไฟลิ่งแล้ว ผู้ลงทุนก็สามารถเข้าดูรายละเอียดเอกสารไฟลิ่งโดยตรงได้ ซึ่งก็จะทำให้มีข้อมูลและรู้จักบริษัทนั้นได้มากขึ้น โดยเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย www.set.or.th

ต้องขอย้ำว่า มาร์เก็ตติ้งที่มีพฤติกรรมฉ้อโกงหรือแสวงหาประโยชน์จากผู้ลงทุนมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนมาร์เก็ตติ้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 7 หมื่นราย แต่หาก ก.ล.ต.ตรวจพบก็จะดำเนินการลงโทษอย่างเคร่งครัดทุกกรณี อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทุนพบพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจะหลอกลวงให้ลงทุนในลักษณะที่ผมเล่ามา ก็สามารถแจ้งเบาะแสมาที่โทรศัพท์ 1207 หรือ email : [email protected] ได้ครับ และที่สำคัญก่อนจะลงทุนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ อย่าเชื่อในทันทีที่ถูกชักชวน ยิ่งเงินลงทุนจำนวนมาก ก็ยิ่งต้องระวังมากๆ ครับ