posttoday

มี "สตางค์" แบบ "Strong" ด้วย "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"

03 ตุลาคม 2560

โดย...ปริย เตชะมวลไววิทย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน ก.ล.ต.

โดย...ปริย เตชะมวลไววิทย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

วันนี้ผมจะเล่าถึงความสำคัญกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) สิ่งใกล้ตัวของชาวมนุษย์เงินเดือนในฐานะลูกจ้างเราถูกหักรายรับบางส่วนทุกเดือนเพื่อสะสมเข้า PVD ขณะที่นายจ้างของเราก็ได้สมทบเงินเข้ามาเพิ่มเติม เพราะเหตุผลที่ว่า PVD คือเงินก้อนเพื่อนำไปใช้ดำรงชีวิตหลังเกษียณ แต่สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เงินที่สะสมโดยลูกจ้างและสมทบโดยนายจ้าง มักไม่เพียงพอที่จะใช้เพื่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพ เป็นผลของการละเลยการบริหารจัดการเงิน PVD ของลูกจ้างเอง สะสมน้อย ออมไม่ต่อเนื่อง ไม่เลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม มีความกลัว และหวังผลเพียงระยะสั้น จัดการเงินหลังเกษียณไม่เป็น พูดง่ายๆ คือ “สตางค์ไม่พอใช้ในวัยเกษียณ”

ท่านทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจนทำให้เราเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างรวดเร็ว และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบโดยมีประชากรอายุ 60 ขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ 20 ภายในปี 2568 ซึ่งระบบสวัสดิการแบบเดิม คือ ระบบบำเหน็จบำนาญที่มีลักษณะเป็นการกำหนดผลประโยชน์ทดแทน (Defined Benefits) ที่นับวันจะมีผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มขึ้นมาก และอาจเป็นภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ ขณะที่ PVD เป็นการกำหนดเงินสมทบในลักษณะสมัครใจ (Defined Contributions)จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการออมเพื่อการเกษียณอายุสำหรับแรงงานในระบบ เพิ่มเติมจากประกันสังคมที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อเกษียณ เดือนละ 3,000 บาท (กรณีจ่ายสมทบ 15 ปี)

มาดูสถิติด้าน PVD กัน กองทุน PVD จัดตั้งมาแล้วกว่า 30 ปี จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปรากฏว่าในภาคแรงงานมีนายจ้างเพียง 16,789 ราย หรือคิดเป็นเพียง 2.8% ของนายจ้างในประเทศไทยเท่านั้นที่จัดให้ลูกจ้างมี PVD และมีจำนวนสมาชิกในกองทุนทั่วประเทศรวมแล้วเพียง 2.9 ล้านราย และที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือ ผลการศึกษาวิเคราะห์ระดับสินทรัพย์การออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมีสำหรับการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานพบว่าผู้ชายควรมีเงินออมขั้นต่ำไว้ใช้หลังเกษียณ จำนวน 2.1-2.9 ล้านบาท ขณะที่ผู้หญิงควรมีเงินออมเพื่อวัยเกษียณจำนวน 2.5-3.3 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงพบว่า 50% ของสมาชิก PVD ที่เกษียณอายุได้รับเงินก้อนไม่ถึง 1 ล้านบาท ถ้าสมาชิกเหล่านี้มีอายุยืนไปอีก 20 ปี ก็จะมีเงินใช้ไม่ถึงเดือนละ 4,000 บาท เมื่อรวมกับ 3,000 บาทที่ได้จากประกันสังคม หากไม่มีเงินเก็บอื่นหรือมีลูกหลานดูแล ก็จะมีเงินใช้จ่ายเพียงเดือนละประมาณ 7,000 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าครองชีพขั้นต่ำที่สำนักงานสถิติแห่งชาติประเมินไว้ว่าควรมีอย่างน้อยเดือนละ 1 หมื่นบาท

ด้วยเหตุนี้เองครับ ก.ล.ต.และหน่วยงานทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องมุ่งให้ทุกท่านที่อยู่ในภาคแรงงานตอนนี้ ตระหนักและเห็นความสำคัญของ PVD ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทของผู้ที่จะต้องสะสมเงินเพื่อตนเอง อยากให้ท่านตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้เงิน PVD ที่หักสะสมอยู่แล้วในทุกๆ เดือน งอกเงยจนเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ หรือในบทบาทของนายจ้างที่จะช่วยต่อยอดและสนับสนุนให้พนักงานในบริษัทเตรียมพร้อมเกษียณด้วยเงินออมที่เพียงพอสำหรับใช้จ่าย จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนาในวันพุธที่ 4 ต.ค.นี้ครับ ชื่องาน “SEC Retirement Savings Symposium 2017” จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย ชั้น 6 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นงานสัมมนาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.

ผมจึงอยากเชิญชวนท่านไปร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อจุดประกายความคิดและการให้ความสำคัญกับ PVD ครับ แม้ท่านอาจจะเป็นผู้สะสมเงินเข้ากองทุน PVD อยู่แล้ว หรือเป็นนายจ้างที่มีกองทุน PVD ให้ลูกจ้างของท่านอยู่แล้ว แต่งานสัมมนาเต็มวันในครั้งนี้ ระดมวิทยากรจากหลายวงการที่จะมาแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ในการบริหารจัดการเงิน หัวข้อออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้นายจ้างและผู้บริหารระดับ CEO,CFO เข้าใจและเห็นภาพว่า PVD มีประโยชน์ต่อบริษัทอย่างไร กับหัวข้อ “บริษัทได้อะไร...ถ้าลูกจ้างมั่นใจว่าเกษียณมั่นคง” และ “สนับสนุนลูกจ้างอย่างไร...ให้ปลายทางมีเงินเพียงพอ” หรือหากบริษัทใดยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผมเชื่อว่าท่านจะได้มุมมองและแนวคิดที่จะนำไปสู่การปรับปรุงรูปแบบสวัสดิการของพนักงาน สนใจมาเพิ่มกองทุน PVD ให้ลูกจ้างในบริษัทก็ได้

ส่วนมนุษย์เงินเดือนหรือลูกจ้างจะได้พบกับหัวข้อการทำเงิน PVD ให้งอกเงย พร้อมเช็กสถานะเงินออมในอนาคต ในหัวข้อ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น...ด้วย Retirement Check-up”เรียนรู้วิธีบริหารจัดการเงินส่วนตัวด้วยเครื่องมือทันสมัย อัพเดทข้อมูลการลงทุนกับบูธผู้ให้บริการการลงทุนและหน่วยงานพันธมิตร เรียนรู้การเก็บ “สตางค์” แบบ “สตรอง” เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายตั้งแต่วันนี้จนถึงหลังเกษียณ จึงขอเชิญชวน วันพุธที่ 4 ต.ค.นี้นะครับ