posttoday

บัตรเครดิต โหดได้อีก! (ตอนจบ)

30 สิงหาคม 2560

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

บทความที่แล้วผมได้กล่าวถึงมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงกรณีการใช้บัตรเครดิตของผมที่เป็นหนี้บัตรค้างชำระอยู่ 1,272.13 บาท ถูกเรียกเก็บชำระดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินถึง 1,545.98 บาท ทั้งๆ ที่เป็นหนี้เพียงแค่ 4 วัน อะไรจะโหดปานนั้น

เราลองมาดูวิธีการคำนวณดอกเบี้ยของพวกธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลกันครับ

บัตรเครดิตใบนี้ปิดยอดทุกวันที่ 23 ของเดือน และวันกำหนดชำระเงินทุกวันที่ 13 ของเดือน อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตค้างชำระเท่ากับ 20% ต่อปี

ในเดือนนั้นผมมีรายการค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตดังต่อไปนี้

รายการที่ วันที่บันทึกรายการ วันที่ใช้บัตร รายการ จำนวนเงิน (บาท)

1. 26/05 25/05 ค่าสาธารณูปโภค 1,068.93

2. 29/05 26/05 ช็อปปิ้งทางอินเทอร์เน็ต 1,390

3. 08/06 07/06 ค่าสาธารณูปโภค 319.93

4. 15/06 15/06 รายการใช้จ่ายที่ห้างสรรพสินค้า 96,117 รวมเป็นเงิน 98,895.86

ผมชำระค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตด้วยวิธีตัดผ่านบัญชีออมทรัพย์ ณ วันที่ 13 ก.ค. 2560 มีเงินคงค้างอยู่ในบัญชีเพียง 97,623.73 บาท ซึ่งทางศูนย์บัตรได้ตัดจำนวนเงินคงค้างในบัญชีผมออกไปทั้งหมดจนเหลือ 0 บาท เท่ากับว่าผมยังค้างชำระอยู่ 1,272.13 บาท ซึ่งผมได้โอนเงินชำระส่วนที่ค้างอยู่จำนวนนี้ไปให้กับทางศูนย์บัตร เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 หลังจากโทรสอบถามกับคอลเซ็นเตอร์ของศูนย์บัตรดังกล่าว สรุปแล้วผมเป็นหนี้บัตรเครดิตเพียง 4 วัน จากเงินต้นเพียง 1,272.13 บาท 1 เดือนถัดมาผมได้รับสเตทเมนต์แสดงรายการใช้จ่ายบัตรเครดิตของผม ปรากฏว่ามีรายการดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน 1,545.98 บาท นี่เป็นการปล้นกันชัดๆ เลย

มาดูวิธีการคิดดอกเบี้ยมหาโหดกันครับ ว่าธุรกิจบัตรเครดิตเขาคิดกันอย่างไร บัตรเครดิตเขาคิดดอกเบี้ยทีละรายการโดยยึดวันที่บันทึกรายการเป็นวันเริ่มต้น จนไปถึงวันกำหนดชำระเงิน

รายการที่ 1 จำนวนวันที่นำมาคำนวณก็คือ 6 + 30 + 12 = 48 วัน

ดอกเบี้ย = (1,068.93x20/100) x 48/365 = 28.11 บาท

รายการที่ 2 จำนวนวันที่นำมาคำนวณก็คือ 3 + 30 + 12 = 45 วัน

ดอกเบี้ย = (1,390x20/100) x 45/365 = 34.27 บาท

รายการที่ 3 จำนวนวันที่นำมาคำนวณก็คือ 23 + 12 = 35 วัน

ดอกเบี้ย = (319.93x20/100) x 35/365 = 6.14 บาท

รายการที่ 4 จำนวนวันที่นำมาคำนวณก็คือ 16 + 12 = 28 วัน

ดอกเบี้ย = (96,117x20/100) x 28/365 = 1,474.67 บาท

รวมดอกเบี้ยของ 4 รายการ = 1,543.19 บาท แต่มียอดค้างชำระอยู่ 1,272.13 บาท เป็นเวลา 4 วัน ทำให้เกิดดอกเบี้ย (1,272.13x20/100) x4/365 = 2.79 บาท ดังนั้นเมื่อรวมดอกเบี้ยทั้งหมด จึงกลายเป็น 1,543.19 +2.79 = 1,545.98 บาท

สิ่งที่ทางธุรกิจบัตรเครดิตเอาเปรียบผู้ใช้บัตรที่เห็นกันได้ชัดๆ ก็คือจำนวนวันที่เริ่มต้นนับจากวันที่บันทึกการใช้บัตร แทนที่จะเป็นวันครบกำหนดชำระเงิน เพราะว่าถ้าชำระเต็มจำนวนเมื่อชำระตรงเวลา ก็จะไม่มีการคิดดอกเบี้ยเหล่านี้ โดยปกติธุรกิจบัตรเครดิตจะมีการคิดค่าธรรมเนียมกับร้านค้าที่รับบัตรเครดิตในอัตราประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว โดยปกติระยะเวลาสูงสุดในการปลอดดอกเบี้ยไม่เกิน 50 วัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวันที่ใช้บัตรและวันที่บันทึกรายการ เมื่อนำมาคิดโดยเฉลี่ยก็จะเป็นช่วงปลอดดอกเบี้ยประมาณ 30 วันเท่านั้น ซึ่งก็สามารถชดเชยได้อยู่แล้ว จากค่าธรรมเนียมที่บัตรเครดิตเก็บจากร้านค้าแล้วก็เช่นกัน

ไม่มีร้านค้าไหนที่จะไม่แอบบวกเพิ่มราคาสินค้า หรือบริการไปกับผู้บริโภค ซึ่งเท่ากับว่าผู้บริโภคต้องแบกภาระค่าธรรมเนียมแทนร้านค้าอยู่แล้ว ดังนั้นเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่ธุรกิจบัตรเครดิตจะนับจำนวนวันเพื่อคำนวณดอกเบี้ยแบบที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะคิดอย่างไรก็ไม่สมเหตุสมผลกันเลยจริงๆ ก็เพราะใช้วิธีการคิดดอกเบี้ยแบบนี้จึงทำให้ดอกเบี้ยที่ทางบัตรเครดิตคิดกับผู้ใช้บัตรอย่างผม เป็นค่าดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินต้น ทั้งๆ ที่เป็นหนี้เพียงแค่ 4 วันเท่านั้น

ไหนๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เพิ่งออกมาตรการควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมาเมื่อเร็วๆ นี้ จะไม่ช่วยเพิ่มเติมมาตรการควบคุมวิธีการคำนวณดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันอีกต่อไป ช่วยกันทั้งทีก็ควรจะทำให้สะเด็ดน้ำ หรือจะปล่อยให้ผู้ใช้บัตรเครดิตและผู้ที่ใช้สินเชื่อส่วนบุคคล จะต้องถูกมัดมือชกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแบบนี้อีกต่อไปหรือครับ