posttoday

บัตรเครดิตโหดได้อีก (1)

23 สิงหาคม 2560

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่งประกาศออกมาล่าสุด เกี่ยวกับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ได้แสดงให้เห็นว่าท่านผู้ว่าการ ธปท. มีความห่วงใยและใส่ใจผู้ใช้บริการเป็นอย่างดี โดยมาตรการใหม่มีรายละเอียดดังนี้

มาตรการสินเชื่อบัตรเครดิตใหม่ ได้กำหนดวงเงินแก่ผู้ขอมีบัตรให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ตามรายได้ต่อเดือน โดย

1.ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ให้ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้

2.ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 3-5 หมื่นบาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่า

3.ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 เท่า

ได้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงเหลือ 18% จาก 20% ให้สอดคล้องกับภาวะต้นทุน

สำหรับมาตรการด้านสินเชื่อส่วนบุคคล ก็ได้ปรับวงเงินสินเชื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ตามรายได้ต่อเดือนเช่นกัน โดย

1.ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ให้ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และให้ได้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับไม่เกิน 3 ราย

2.ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่นบาทขึ้นไป กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละราย

เพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับจะเรียกเก็บได้ยังคงไว้เท่าเดิม เพื่อที่จะสามารถให้บริการสินเชื่อแก่ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ แต่ทาง ธปท.ยังใจดีเปิดช่องให้ผู้บริโภคมีช่องทางในการเข้าถึงสินเชื่อ ในกรณีที่มีเหตุการณ์จำเป็นฉุกเฉินที่สำคัญต่อการดำรงชีพ โดยให้ผู้ประกอบการสามารถให้วงเงินชั่วคราว และให้กำหนดการจ่ายชำระคืนตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้ขอมีบัตรเครดิต หรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป ส่วนเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ก็ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2560 เช่นกัน โดยจะมีผลใช้บังคับกับผู้มีบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่

ผมเห็นด้วยและสนับสนุนมาตรการของ ธปท.ที่เพิ่งออกมาใหม่ แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ทาง ธปท.ได้ละเลย ซึ่งส่วนนี้ผมคิดว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากอีกส่วนหนึ่ง เพราะผู้บริโภคโดนเอารัดเอาเปรียบมากจนเกินไป ถูกจับมัดมือชกเซ็นสัญญาทาส กับธุรกิจผู้ออกบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมาตลอด นั่นคือวิธีการนับจำนวนวันในการคำนวณดอกเบี้ยที่ลูกค้าจะต้องจ่าย

ผมขอยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมมีรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็นเงิน 500 บาท ซึ่งปกติจะชำระเต็มจำนวน ไม่ใช้วิธีผ่อนชำระ 10% เด็ดขาด ยกเว้นแต่ว่ามีโปรโมชั่นผ่อนฟรี 0% ผมจึงจะยอมผ่อนชำระ เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงมาก และผมก็ใช้วิธีหักบัญชีจากบัญชีออมทรัพย์ของผม ในเดือนดังกล่าวผมมียอดใช้บัตรอยู่ 98,895.86 บาท

ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดวันชำระ เงินในบัญชีผมมีน้อยกว่าจำนวนเงินที่จะต้องชำระอยู่ประมาณ 1,272.13 บาท ซึ่งวันรุ่งขึ้น ผมก็รีบนำเงินไปเข้าบัญชีให้เพียงพอที่ทางศูนย์บัตรเครดิตจะมาตัดบัญชี ด้วยความเข้าใจผิดว่าทางศูนย์บัตร เมื่อตัดเงินวันแรกได้ไม่ครบจะมาตัดเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของผมในวันรุ่งขึ้น แต่ปรากฏว่าทางศูนย์บัตรไม่ได้มาตัดบัญชีผมในวันดังกล่าว

เมื่อผ่านไปอีก 2 วัน ผมจึงโทรไปที่คอลเซ็นเตอร์ของศูนย์บัตรเครดิตดังกล่าว เพื่อถามว่าทำไมทางศูนย์บัตรไม่มาตัดบัญชีของผมในวันถัดมา จึงได้รับการอธิบายว่า ปกติทางศูนย์บัตรเครดิตจะตัดบัญชีเพียงครั้งเดียว ผมจึงรีบแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ว่าขอความกรุณาอย่าคิดดอกเบี้ยและค่าปรับในกรณีชำระล่าช้า เพราะรู้ซึ้งถึงความโหดของผู้ออกบัตรเครดิต ทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งให้ทราบว่า จะขอยกเว้นให้ แต่จะได้หรือไม่ได้จะแจ้งมาให้ผมทราบภายใน 4 วันทำการ

ต่อมาผมก็ได้รับแจ้งว่า ได้รับการยกเว้นค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่พอ ยอดรายการในบัญชีของเดือนถัดมา ปรากฏว่าได้มีการแสดงถึงรายการดอกเบี้ยและค่าปรับดังกล่าวถึง 1,545.96 บาท จากมูลหนี้เพียง 1,272.13 บาท โดยมีเวลาค้างชำระเพียง 4 วัน ถ้านำมาคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จะเท่ากับ 7,508.72% นี่มันปล้นกันชัดๆ จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมกำไรของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของกลุ่มธนาคารและกลุ่มไม่ใช่ธนาคารถึงได้เติบโตขึ้นทุกปี

************************ 

ภาพ...เอเอฟพี