posttoday

สัญญาณบวกหุ้นไทย

01 สิงหาคม 2560

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต email: [email protected]

ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยถูกตลาดหุ้นโลกทิ้งห่างกว่า หลักมาจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้า เมื่อเทียบเคียงกับของภูมิภาคอื่น แถมมูลค่าตลาดหุ้นไทยไม่ถูกเมื่อเทียบกับของเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณบวก โดยเฉพาะภาคการส่งออก ท่องเที่ยว รวมถึงความคืบหน้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และการเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี

ภาคส่งออกเริ่มได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ตัวเลขส่งออกของไทยเร่งขึ้นมาขยายตัวเกิน 10% ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2560 ยังตามห่างๆ จากตัวเลขของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้แรงหนุนจาก

1) การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปัจจัยนี้ช่วยประเทศที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

2) การขยายตัวของสินค้าเทคโนโลยี ปัจจัยนี้ส่งผลดีต่อประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ที่ชัดๆ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มกระจายออกไปในวงที่กว้างขึ้น ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และจีน จากช่วงแรกที่พึ่งสหรัฐเป็นหลัก

เศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทย ที่มีโครงสร้างแบบเปิด พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนสูง ย่อมได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนจะได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่โครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

น่าสังเกตว่า กระแสเงินทุนโลกได้ถูกโยกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ กลับเข้าตลาดหุ้นหลักในช่วง 2-3 ปีหลัง จนระดับการถือครองหุ้นในตลาดเกิดใหม่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ความเสี่ยงจากแรงขายต่างชาติจึงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากขายหุ้นไปมากแล้วก่อนหน้านี้

แม้ว่ารายได้ประชาชาติที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Nominal GDP) ของตลาดเกิดใหม่ที่เคยขยายตัว 12% ในช่วงปี 2543-2553 จะชะลอเหลือโต 6.5% นับจากปี 2553 หรือขยายตัวช้าลงเกือบครึ่ง

แต่อัตรากระแสเงินสดอิสระต่อกิจการ (FCF Margin) กลับลดลงเพียงเล็กน้อยจาก 5% เหลือ 4% ในช่วงเวลาดังกล่าว

นั่นหมายความว่าบริษัทในตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังคงสร้างกระแสเงินสด อยู่ในเกณฑ์ดี แม้เศรษฐกิจจะโตช้าลง

กระแสเงินสดเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้ถูกนำไปชำระหนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนในเอเชียลดลงจาก 40% ในปี 2014 เหลือ 32%

โครงสร้างทางการเงินที่แข็งแรงขึ้นส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นในภาพรวม

กระแสเงินสดเหล่านี้ อีกส่วนหนึ่งได้ถูกนำไปจ่ายปันผล รวมถึงการซื้อคืนหุ้นบริษัทตัวเองบางส่วน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลไต่สูงขึ้นเป็นลำดับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

การที่ตลาดหุ้นไทยแกว่งออกด้านข้างในกรอบ 1,530-1,600 จุด มา 7 เดือน ขณะที่กำไรปกติของบริษัทจดทะเบียนไทยคาดว่า จะขยายตัว 8.6% ในปีนี้ และ 9.7% ในปีหน้า ทำให้ตลาดหุ้นเริ่มดูน่าสนใจมากขึ้น

ค่าพี/อีในปี 2561 จะเหลือ 14 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 16 เท่า และถ่างค่าชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้นที่วัดจาก Earnings Yield Gap เป็น 4.6% ซึ่งถือว่าตลาดหุ้นไทยไม่แพง

นอกจากนั้นค่าพี/อีของตลาดหุ้นไทยที่เคยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ MSCI Ex JP 22% ได้ลดระดับลงเหลือเพียง 10%

ด้านอัตราดอกเบี้ยโลกเป็นแนวโน้มขาขึ้น ธนาคารกลางสำคัญส่งสัญญาณ “ถอนคันเร่ง” ลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่ยังห่างไกลจากการ “เหยียบเบรก”

สาเหตุหลักเนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะจากพลังงานและอาหาร ที่สำคัญการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ภูมิภาคยังเปราะบาง

อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ห่างจากเป้าหมายของธนาคารกลางหลักที่ส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่ 2% ตลาดการเงินจึงปรับคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นช้ากว่าเคยคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี

ที่ผ่านมา 7 เดือนเห็นการปรับขึ้นประมาณการกำไรของหุ้นโลก ซึ่งมีส่วนสำคัญที่หนุนให้ตลาดหุ้นโลกไต่สูงขึ้นทำสถิติใหม่ๆ

อย่างไรก็ดี ประมาณการกำไรบ้านเราปรับขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจน

ผลประกอบการไตรมาส 2 จะทยอยออกมามากขึ้นก่อนถึงเส้นตายในกลางเดือนส.ค. ท่ามกลางความคาดหวังที่ต่ำ แต่ยังต้องติดตามต่อไปว่าจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนประมาณการกำไรอย่างไร

 มุมมองเศรษฐกิจไทยที่เริ่มดีขึ้น จะนำไปสู่การปรับขึ้นประมาณการกำไรและมูลค่าหุ้นในวงกว้างได้มากน้อยแค่ไหน เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

 ทั้งนี้ สามารถติดตามบทวิเคราะห์รายหุ้นของธนชาตผ่านแอพพลิเคชั่น Think ที่พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้ววันนี้ ทั้งในระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์

ดาวโหลดที่นี่ https://goo.gl/BhhePK

พบกันใหม่สวัสดีครับ