posttoday

ปรากฏการณ์ของชำร่วย

29 มีนาคม 2560

โดย...สิริพร สงบธรรม เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

โดย...สิริพร สงบธรรม เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

“ของชำร่วย” เป็นของตอบแทนน้ำใจเวลาเราไปงานแต่งงาน มักเป็นของแสดงความน่ารักของชีวิตคู่ อย่างคู่ช้อน คู่ตะเกียบ หรืองานบวช งานศพ และงานอื่นๆ เจ้าภาพเขาแสดงความขอบคุณที่แขกจัดเวลามาร่วมงาน

ของชำร่วยในงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นก็เป็นอาการเดียวกัน มีที่มาราวสักสิบปีที่ผ่านมา จากที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยจับชีพจรเรื่องนี้ คราวเมื่อเริ่มทำการประเมินการจัดประชุมเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา

มีความเดิมเล่าสู่กันฟังมาว่า การจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่พบกันปีละครั้ง ระหว่างผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และกรรมการบริษัทนั้น จะต้องมี 2 เงื่อนไข คือ มีผู้ถือหุ้นมาประชุมตั้งแต่ 25 คน และถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของทุนจดทะเบียน หากไม่ครบองค์ประชุมจะเปิดประชุมไม่ได้

เพื่อเป็นการเชิญชวน กระตุ้นและขอบคุณ ผู้ถือหุ้นที่มาเข้าร่วมประชุม ผู้บริหารจึงจัดของชำร่วย ของยอดนิยม อาทิ ปากกา สมุด นาฬิกาตั้งโต๊ะ/แขวน ติดโลโก้ของบริษัทไว้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ไว้ซะหน่อย จากนั้นก็เป็นที่นิยม ฮือฮา กับของชิ้นที่มีไอเดีย สวยเก๋ไก๋ ให้ได้ปลื้มกัน เมื่อบริษัทโน้นแจกของชำร่วยที่หรูๆ แพงๆ

ผลพวงที่ตามมาคือ ผู้ถือหุ้นนิยมแตกหุ้น ถือใบมอบฉันทะ ไปขอรับของชำร่วยกันสนุกสนาน ผิดวัตถุประสงค์ของการเชิญมาประชุมที่จะติดตามการดำเนินงานของกิจการที่ตัวเองซื้อหุ้น-เป็นเจ้าของอยู่ไปซะแล้ว

ตัวเลขจำนวนผู้ถือหุ้นรวมทุกบริษัทในตลาดหุ้นไทยในปี 2557 จากราว 3 ล้านรายชื่อ เพิ่มทะลักเป็น 4 ล้าน ในปีรุ่งขึ้น มากขึ้นอย่างมีนัย นอกเหนือจากการเพิ่มขึ้นจากการมีบริษัทใหม่ๆ เข้าตลาด

การนี้จึงเป็นเรื่องให้มีการพูดกันถึง “มนุษย์ป้า” ที่เที่ยวตระเวนมีกระเป๋าลากล่าของชำร่วยตามการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เป็นประเด็นให้ชาวหุ้นถกเถียงกันถึงสิทธิของความเป็นผู้ถือหุ้นว่าจะต้องได้ของชำร่วยในทุกคราว ทุกบริษัท มีการยื้อแย่ง จิ๊กของ เม้มของ ให้ได้อับอายกันหลายเรื่อง เสียภาพพจน์ผู้ถือหุ้นรายบุคคล ก่อให้เกิดความรำคาญต่อผู้เกี่ยวข้อง บางรายพูดอย่างน่าภาคภูมิใจว่าชอบเก็บสะสมเป็นที่ระลึก นั่งมอง นั่งดูปลื้ม แล้วตามดูว่าปีหน้าจะแจกอะไร…

บริษัทใหญ่ ทำของสวย ของแพง เพราะมีทุน บริษัทย่อมถึงเล็ก ทำตาปริบๆ เพราะล้วนเป็นต้นทุนของกิจการทั้งสิ้น อย่าง ปตท. เคยแจกคูปองเติมน้ำมัน มูลค่า 500 บาท ผู้ถือหุ้นบางคนพอ

รับแจกปุ๊บ ยืนขายหน้าห้องประชุมทันที 400 บาท เพราะตัวเองไม่มีรถ ขับรถไม่เป็น ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ในยุคนั้น เห็นกับตาตัวเอง เจ็บจี๊ดๆ เลยล่ะ

หลายบริษัท บอกว่า เป็นสินค้าของบริษัทที่แจกให้ผู้ถือหุ้นไปใช้ เป็นการประชาสัมพันธ์ได้ด้วย อย่าง คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ซีอีโอทีวีไดเร็ค แจกเครื่องออกกำลังกาย สินค้าเอกลักษณ์ที่ใครๆ ก็จดจำ จอร์จ-มันยอดมาก เธอก็ปลื้มของเธอทุกปี

เรื่องของชำร่วยจึงกลายเป็นปรากฏการณ์คู่กับฤดูกาลประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น (AGM) กลายเป็นประเพณีนิยมที่ “ต้องมี” แต่ผิดเพี้ยนไปจากจุดนัดพบของการประชุมที่ต้องมีสาระของการประชุม ในด้านของข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินลงทุนของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ และพบว่ากลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นเกินความจำเป็น เช่น ต้นทุน การบริหารจัดการ และอาจหมกปมกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีที่สิ้นสุด

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยมองเห็นและเห็นใจผู้บริหารในเรื่องนี้ และมองอีกมุมของผู้ถือหุ้นเป็นการไม่เท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นผู้ที่อาจจะติดภารกิจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ จึงไม่ได้รับของชำร่วย จึงออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2558 รณรงค์ “งด” แจกของชำร่วย และมีเสียงสะท้อนทั้งที่เป็นบวกและลบตามคาด

ผู้ถือหุ้น-บางราย โกรธ หาว่าขัดผลประโยชน์ ของเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้เอง จะมาห้ามแจกทำไมกัน บางรายโกรธต่อเนื่องจนมาถึงวันนี้

ผู้บริหาร-บางแห่งนำไปเป็นเหตุ แจ้งผู้ถือหุ้นว่า สมาคมห้ามแจกของชำร่วยไม่เป็นไร อิงหลังกันได้ค่ะ แต่ในความจริงสมาคมฯ ไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะห้าม เป็นเพียงการรณรงค์ เห็นด้วยก็ทำ ไม่เห็นด้วยก็แจกต่อไปเท่านั้นเอง

15 ก.พ. 2559 ก.ล.ต.มีจดหมายเวียนถึงบริษัทจดทะเบียน เลขที่ ก.ล.ต.พษ.(ว) 4/2559 เรื่องการซักซ้อมแนวปฏิบัติก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี โดยส่วนหนึ่งมีการกล่าวถึงการแจกของชำร่วยที่อาจสร้างวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสมในการประชุมผู้ถือหุ้น

กระแสเริ่มมา พบว่า การแจกของชำร่วยของบริษัทจดทะเบียนลดลง จากร้อยละ 81 เหลือเป็น 46 และ 25 ในปี 2557, 2558 และ 2559 ตามลำดับ เรื่องนี้ตัวเลขชัด ส่งผลเล็กๆ กับยอดขายกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ของวงการนี้ จน จิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน แอบมาค้อนสมาคมวงใหญ่เชียวล่ะ

ชวนคิดต่ออีกนิดนะคะ ไหนๆ ก็เป็นเรื่องที่พูดกันในวงกว้างไปแล้ว ตามต่อกันอีกหน่อยดีไหมว่า หาก “งด” แจกของชำร่วย มาชวนกันทำเพื่อสังคมกันเถอะ งบประมาณในส่วนนี้ปรับงบเป็นเงินปันผล โอนเข้าบัญชี เป็น e-Dividend ผู้ถือหุ้นได้รับกันอย่างทั่วถึงทุกคน หรืออาจปรับไปเป็นทุนการศึกษา กิจกรรมเพื่อสังคมต่อยอดให้ยั่งยืน หรืออื่นใด เพื่อร่วมวัฒนาชาติไทย

นอกจากนี้ การครบองค์ประชุมของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในยุคนักลงทุนวีไอ ข้อกังวลใจ เรื่องนี้จึงน้อยลง ผู้บริหารต้องทำการบ้าน ตอบข้อซักถามแบบมั่นๆ หรือจะไม่ครบองค์ประชุมก็มีเพียงบางแห่ง ที่หุ้นกระจายตัวมาก ประเภทหุ้น “ประชานิยม” ที่ต้องเรียกประชุมเป็นครั้งที่สอง

ปรากฏการณ์ของชำร่วยจึงอาจมีเรื่องราวใหม่ๆ รอสถิติปี 2560 จากรายงานภาคสนามของ “อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น” จากสมาคม แล้วดิฉันจะมาเล่าสู่กันฟังใหม่นะคะ