posttoday

บาทแข็งอีกไม่นาน

28 กุมภาพันธ์ 2560

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย

วันที่ 27 ก.พ.ติดตามตัวเลขการค้าของไทย (ส่งออกและนำเข้า) เดือน ม.ค. โดยตลาดคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกจะขยายตัว 8.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2559 ที่ขยายตัวระดับ 6.20% ส่วนตัวเลขนำเข้าคาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 12% เพิ่มจากเดือน ธ.ค.ที่ขยายตัว 10.30%

หากตัวเลขการส่งออกดีกว่าคาด และตัวเลขดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลต่อเนื่องอีก (ดุลบัญชีการค้าเกินดุลมา 32 เดือนติดต่อกัน ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 27 เดือนติดต่อกัน ) คาดว่าจะเป็นผลทำให้เกิดการเก็งกำไรเงินบาทและทำให้แข็งค่าลงในช่วงระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม เริ่มได้เห็นปฏิกิริยาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเข้าดูแลเงินบาท โดยดูได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง (เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 10 ก.พ. 2560 อยู่ที่ระดับ 1.80 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน ม.ค.ปีนี้ที่ 2,640ล้านเหรียญสหรัฐ) และล่าสุด ผู้ว่าการ ธปท.ได้ออกมากล่าวให้ภาคธุรกิจระมัดระวังความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยมองว่านักลงทุนกำลังมองไทยเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนหรือเวลาที่กลัวอะไรขึ้นมา จะมีการนำเงินระยะสั้นมาพักไว้ในไทย ซึ่งเป็นเงินที่ ธปท.ไม่ค่อยชอบเท่าไร เพราะเมื่อเงินระยะสั้นเข้ามาทำให้ค่าบาทแข็งค่าขึ้น ไม่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.ได้ดูติดตามใกล้ชิดและประเมินสถานการณ์ตลอด

แรงกดดันที่จะมากระทบตลาดจะมีมากขึ้นช่วงปลายเดือน ก.พ. เมื่อความจริงปรากฏหลังการรายงานงบเสร็จสิ้น ความผันผวนของเงินบาท (อ่อนค่า) ที่จะเริ่มมีมากขึ้น จากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐ ที่จะเริ่มถูกแรงไล่ซื้อเพื่อเก็งกำไรจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค.ไล่ตั้งแต่

1) กระแส Trump’s Trade Policy ที่จะกลับมาอีกครั้ง จากการเตรียมเปิดแผนลดภาษีครั้งใหญ่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงต้นเดือน มี.ค.

2) การประชุมธนาคารกลางหลักๆ ของโลกอย่างชุกชุม ทั้งธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 9 มี.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 15 มี.ค. และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) วันที่ 16 มี.ค. โดยเฉพาะการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC ) แม้ตลาดจะรับรู้ว่าโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยเดือน มี.ค.มีน้อย (ความน่าจะเป็นที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยเฟดให้โอกาสเพียง 34%) แต่หลังจากการประชุมจบลง ตลาดจะไปกังวลกับการประชุมครั้งถัดไปคือ เดือนพ.ค. ซึ่งล่าสุดมีโอกาสเกินกว่า 50% และความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค. ที่กว่า 75-95 %

3) การอ่อนค่าของเงินปอนด์ จากการดำเนินการประชามติอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ซึ่งสภาสูงของอังกฤษน่าจะมีมติเห็นชอบการใช้มาตรา 50 ในวันที่ 7 มี.ค. 2560 และการอ่อนค่าของสกุลยูโรจากความไม่แน่นอนของการเมืองในยุโรป โดยในวันที่ 15 มี.ค.จะมีการเลือกตั้งทั่วไปของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรค Party for Freedom (PVV) พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด

ที่มี กรีท ไวเดอร์ส เป็นผู้นำและมีนโยบายนำเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรป (เน็กซิต) และพรรค People’s Party for Freedom and Democracy (VVD) ของประธานาธิบดีเนเธอร์แลนด์ Mark Rutte ทั้งนี้ปัจจุบัน VVD มีที่นั่งในสภาฯ 41 จาก 150 ที่นั่ง และ PVV มี 15 ที่นั่ง โดยผลสำรวจล่าสุดจาก TNS NIPO พบว่า PVV จะมีที่นั่งเพิ่มเป็น 28 ที่นั่ง ขณะ VVD ที่จะได้ 25 ที่นั่ง โดยตั้งแต่ต้นปี 2560 มีการสำรวจจากสำนักต่างๆ รวมกันกว่า 20 ครั้ง ส่วนใหญ่จะให้ PVV เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งถึง 17 ครั้ง (ที่เหลือเป็นเสมอ 2 ครั้ง แพ้ 1 ครั้ง)