posttoday

อิตาลี...บทเริ่มต้นทางการเมืองของยุโรป

30 พฤศจิกายน 2559

โดย มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ [email protected]

โดย มณฑล  จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ [email protected]

สุดสัปดาห์นี้ (4 ธ.ค.) จะมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมร่วมลุ้นไปกับประชาชนชาวอิตาลีและยุโรปว่า ผลการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการทอนอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นอย่างไร

และจะนำพาประเทศอิตาลีไปในทิศทางไหน รวมถึงตลาดการเงินจะปรับตัวในลักษณะใด คอลัมน์สัปดาห์นี้ ผมขอแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองในประเทศของสมาชิกยุโรปเพิ่มเติมอีกประเทศหนึ่งครับ

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นถึงที่มาที่ไปว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีอิตาลี มัตเตโอ เรนซี มีความจำเป็นต้องจัดให้มีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ขณะที่กระแสต่อต้านพรรคการเมืองหลักซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคารของอิตาลีซึ่งส่งผลให้ประชาชนส่วนมากที่เป็นเจ้าหนี้แบกรับผลขาดทุนตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลต้องเผชิญความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปประเทศเมื่อกระบวนการเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างคล่องตัวมากนัก ดังนั้นความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทอนอำนาจของวุฒิสภาจะเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาลและทำให้การผ่านร่างกฎหมายที่จำเป็นในการปฏิรูปเศรษฐกิจสามารถทำได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับผลประชามติ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” นั้น ถ้าลองพิจารณาผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากหลายสำนักแล้วพบว่าคะแนนเสียงค่อนข้างใกล้เคียงกัน แม้ว่าโน้มเอียงไปทางไม่เห็นด้วยมากกว่า แต่สัดส่วนของผู้ที่จะไม่ออกเสียง/ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งรวมกันกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ทำให้ผลประชามติยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงของการลงประชามติได้ กรณีที่ผลประชามติมีข้อสรุปว่าประชาชนส่วนมาก “เห็นด้วย” น่าจะเป็นผลบวกต่อตลาดมากที่สุด (Best Case) เนื่องจากพรรครัฐบาลได้รับความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศต่อไปจนครบวาระในช่วงไตรมาส 2/2561

แต่หากผลปรากฏว่า คะแนนเสียงส่วนมาก “ไม่เห็นด้วย” นายกฯ เรนซี อาจประกาศลาออกจากตำแหน่งตามที่เคยแถลงไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนทางการเมืองของอิตาลี โดยผมขอแบ่งเหตุการณ์เป็น 2 กรณี คือ 1) ถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวภายหลังการประกาศลาออกของนายกฯ เพื่อสานต่อการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ช่วงกลางปี 2560 ซึ่งผมมองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด (Base Case) โดยตลาดหุ้นจะผันผวนในระยะสั้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง

2) ถ้าเกิดการยุบสภาทันทีภายหลังการประกาศลาออกของนายกฯ อาจเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) เนื่องจากพรรค Five Star Movement (M5S) ซึ่งชูนโยบายต่อต้านสหภาพยุโรป มีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า จนอาจนำไปสู่การปลุกกระแสประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรปในอิตาลีและลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ ก็ว่าได้ ความเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดการเงินของยุโรปในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี ผมมองว่าผลประชามติของอิตาลีจะมีนัยต่อตลาดหุ้นและตราสารหนี้ของไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากความเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและอิตาลีมีไม่มาก ถึงแม้ว่าในระยะสั้นตลาดอาจผันผวนจากความกังวลต่อผลประชามติ แต่ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยซึ่งยังคงแข็งแกร่งและสามารถเติบโตได้จากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ผมจึงคงคำแนะนำให้ทยอยสะสมสำหรับนักลงทุนระยะกลางถึงยาวหากตลาดปรับตัวลง