posttoday

บ้านพักปัจฉิมวัย: ปลายทางของชีวิต (ผู้หญิง) อิสระ (1)

02 พฤศจิกายน 2559

โดย ธนัย เจริญกุล กองทุนบัวหลวง

โดย ธนัย เจริญกุล กองทุนบัวหลวง

เมื่อคนวัยทำงานต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ชีวิตวัยเกษียณ หลายคนอาจคิดว่าคงต้อง “ฝากฝีฝากไข้” ไว้กับใครสักคน นั่นอาจจะเป็นลูกหลานหรือญาติพี่น้อง แต่ในวันนี้สำนึกดังกล่าวอาจต่างไปจากอดีตไปบ้าง หลายคนอาจพอใจจะใช้ “ชีวิตคู่” เฉพาะของตัวในยามชรา ไม่อยากให้เป็นภาระแก่คนรุ่นหลังที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ก็มีอีกหลายคนที่ครองตัว “โสด” จนตลอดชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นสตรี

บางครั้งแล้วปลายทางของชีวิตอิสระของท่านเหล่านี้ อาจไม่จำเป็นต้องอยู่อาศัยกันอย่างพร้อมหน้า เป็นบ้านหรือเป็นครอบครัวเสมอไป หากตระเตรียมวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างดี ก็พร้อมจะดำรงชีวิตยามเกษียณได้อย่างมีความสุขเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคลื่นสังคมผู้สูงอายุได้มาถึงสังคมไทยแล้ว ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างประชากรของไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเมื่อราวปี 2543-44 นั่นคือมีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

เหตุที่ประชากรสูงวัยของไทยเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “อายุยืนยาวขึ้น” (อัตราการตายลดลง) จากอายุขัยเฉลี่ยเมื่อ 50 ปีก่อน เพศชายประมาณ 55 ปี เพศหญิงประมาณ 62 ปี แต่ในปี 2557 เริ่มเพิ่มขึ้น เพศชายประมาณ 72 ปี เพศหญิงประมาณ 79 ปี และคาดการณ์ในอีกสิบปีหน้า เพศชายประมาณ 76 ปี ส่วนเพศหญิงประมาณ 83 ปี (ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ, พฤศจิกายน 2557)

ข้อสังเกตจากตัวเลขชุดนี้ ชี้ว่าเพศหญิงมีอายุยืนยาวกว่าเพศชาย อีกทั้งยังมาพร้อมกับ “เทรนด์” อีกหนึ่งกระแส นั่นคือผู้หญิงไทยนิยมครองตัวเป็นโสดกันมากขึ้น

ผลสำรวจของ U.S. Census Bureau, International Data Base ผ่านการวิเคราะห์โดยบริษัท Meet N Lunch ระบุว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.5 ล้านคน โดยเฉพาะ "ผู้หญิงตัวคนเดียว" จะเพิ่มสูงขึ้น รวมแล้วประมาณ 5.6 ล้านคน

ผู้หญิงตัวคนเดียวนั้นรวมถึงหญิงม่ายหรือหญิงที่ผ่านการหย่าร้าง ด้วยเหตุที่ผู้ชายมีแนวโน้มเสียชีวิตเร็วกว่า (ตามอายุขัยเฉลี่ย) และยังมีแนวโน้มแต่งงานใหม่มากกว่าผู้หญิง ทำให้เพศชายเป็นโสดน้อยกว่านั่นเอง

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเอเชียช่วยย้ำว่า หญิงโสดไทยมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยหญิงไทยช่วง 30-34 ปี ครองความเป็นโสดสูงกว่าหลายประเทศ เริ่มจากผู้หญิงอเมริกันอยู่เป็นโสด 45 เปอร์เซ็นต์ สาวญี่ปุ่น 35 เปอร์เซ็นต์ สาวฮ่องกง 28 เปอร์เซ็นต์ สาวสิงคโปร์ 21 เปอร์เซ็นต์ สาวเกาหลี 19 เปอร์เซ็นต์ และสาวอินโดนีเซีย 14 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้หญิงไทยนั้นสูงถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาเลย

ที่น่าสนใจก็คือยังได้สำรวจไปถึงสาว “เจ็นวาย” (Gen Y) พบว่า 18% ยืนยันว่า "ฉันจะเป็นโสด"  ประกอบกับผู้หญิงไทยนั้นมีสัดส่วนออกไปทำงานนอกบ้านสูงกว่าผู้หญิงในเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ ซึ่งเมื่อชีวิตการงานประสบความสำเร็จ ก็ย่อมทำให้มาตรฐานที่จะเลือกคู่ครองสูงขึ้นไปด้วย สิ่งที่ตามมาคือความคิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องแต่งงานหรือมีลูกก็ได้

ทั้งอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นรวมทั้งการอยู่เพียงลำพังคนเดียว แม้บางรายจะอาศัยเป็นคู่ แต่ก็อยู่กันประสาตา-ยายแล้ว แม้ลูกหลานจะเข้าใจในเจตนาของผู้สูงวัยเหล่านี้ แต่ในสังคมเมืองที่รั้วบ้านหดเหลือแค่ผนังห้องสี่ด้านในคอนโดมิเนียม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหญิงชรา ย่อมเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจวางใจได้ง่ายๆ

ในวันนี้จึงเริ่มเห็นธุรกิจทางการแพทย์ส่วนหนึ่ง หันมาจับตลาดบ้านพักสำหรับคนวัยเกษียณอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องการดำรงชีวิตตามลำพังทั้งหญิงหรือชาย หรือแม้แต่จะอยู่ด้วยกัน แต่ปรารถนาชีวิตสันโดษ หรือไม่อยากเป็นภาระแก่คนรุ่นหลัง พวกเขาเหล่านี้แม้ไม่ร่ำรวยแต่ก็มีกำลังซื้อ และมีความพร้อมทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการเก็บหอมรอมริบ และวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบตั้งแต่วัยทำงาน

“สวางคนิเวศ” ภายใต้บริหารงานของสภากาชาดไทย เป็นชื่อหนึ่งที่ต้องนึกถึง ในฐานะผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆ