posttoday

คนไทยกินทุเรียนแพงแต่คนทั้งโลกกินข้าวไทยถูก (ตอนจบ)

26 ตุลาคม 2559

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย กิติชัย  เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

บทความตอนที่แล้วผมได้เปรียบเทียบราคาผลไม้หลายชนิด รวมทั้งข้าวกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งแตกต่างกันอย่างมาก อันเป็นที่มาของข้อเสนอแนะรัฐบาลให้ดำเนินการเพื่อหวังผลระยะยาว ไม่ใช่หวังผลระยะสั้นอย่างที่เคยทำกันมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาข้าว หรือจำนำข้าว ที่ต้องผลาญงบประมาณหลักแสนล้านกันเลยทีเดียว เพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามราคาส่งออกข้าวก็ต้องเป็นไปตามราคาตลาดโลก เสมือนกับว่า ประเทศที่ไม่ร่ำรวยอย่างประเทศไทย กลับนำเงินภาษีของผู้เสียภาษีไปอุดหนุนให้คนทั้งโลก ได้กินข้าวไทยในราคาถูก ผมจึงอยากให้รัฐบาลชุดปัจจุบันใจกล้าๆหน่อย (ไม่ต้องเป็นห่วงฐานเสียงเหมือนรัฐบาลเลือกตั้ง) ประกาศออกไปเลยครับว่า ต่อแต่นี้จะไม่มีการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรกรรมทุกชนิด เกษตรกรจะต้องรับความเสี่ยงเองเหมือนธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ แต่รัฐจะต้องนำงบประมาณที่ไม่ต้องอุดหนุนสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าว ยาง ฯลฯ ไปดำเนินการดังต่อไปนี้

1.พัฒนาระบบชลประทานให้ทั่วถึงทั้งประเทศ

2.เผยแพร่ราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้เกษตรกรได้รับทราบเพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเพาะปลูกพืชเกษตร ตัวที่คาดว่าจะได้ราคาดี

3.วิจัยพันธุ์พืชให้ได้ผลผลิต/ไร่ สูงขึ้น และมีความสามารถทนทานต่อศัตรูพืชได้มากขึ้น

4.วิจัยพันธุ์พืชให้สามารถออกดอกออกผลนอกฤดูกาล เช่น มะนาว เวลาหน้าแล้งราคาแพงมาก เพราะว่าผลผลิตน้อย เป็นต้น ผู้บริโภคก็จะได้กินพืชผักผลไม้นอกฤดูกาล ในราคาย่อมเยา ในขณะที่เกษตรกรก็ขายผลิตผลทางการเกษตรได้ทั้งปี

5.ส่งเสริมให้ชาวนาเปลี่ยนจากการปลูกข้าวขาวทั่วไป เป็นข้าวหอมนิล ข้าว Riceberryที่มีราคาสูงกว่าหลายเท่า ซึ่งจะส่งผลสองเด้ง คือราคาข้าวหอมนิล ข้าว Riceberryจะมีราคาลดลงจากผลผลิตที่มากขึ้น ผู้บริโภคก็จะได้ประหยัดเงินในกระเป๋า ขณะที่ชาวนาก็มีรายได้สูงขึ้น จากการที่ราคาข้าวดังกล่าวสูงกว่าข้าวขาวหลายเท่าตัว

6.ส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรให้มีความเข้มแข็ง ช่วยสร้างอำนาจต่อรองในการซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืช ยาฆ่าศัตรูพืช รวมทั้งการขายผลิตผลการเกษตรของสมาชิก

7.ขยายขนาดของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพันธุ์พืช รวมทั้งสำรวจตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศว่า พื้นดินบริเวณใด เหมาะแก่การปลูกพืชชนิดใด เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด แล้วส่งเสริมเกษตรกรในการเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชไร่ หรือพืชสวนนั้นๆแทนที่จะเพาะปลูกพืชเดิมๆ รวมทั้งจัดหาเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยให้เกษตรกรฟรีในปีแรก และเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำตัวเป็นพี่เลี้ยงที่คอยติดตาม และให้คำแนะนำทั้งทางด้านช่องทางการตลาดแก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิด ผ่านทางสหกรณ์ หรือหมู่บ้าน และในช่วงปีแรกๆที่เกษตรกรที่เปลี่ยนไปปลูกพืชตัวอื่นๆ เกษตรกรรายนั้นๆอาจจะยังไม่มีรายได้จนกว่าพืชเกษตรที่ปลูกใหม่จะให้ผล ซึ่งจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของพืชนั้นๆ เช่น กล้วยอาจจะภายใน 1-2 ปี หรือทุเรียนอาจจะต้องใช้เวลานานหน่อยคือ 5-7 ปี

ดังนั้นรัฐจะต้องจัดงบอุดหนุนผ่านธนาคารของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ในการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแกเกษตรกรที่มาทำการกู้โดยอนุญาตให้เอาผลผลิตที่คาดว่าจะได้ในอนาคตเป็นหลักประกัน โดยทางธกส.ต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงการเกษตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอตัวเลขผลผลิต/ไร่ ของพืชเกษตรชนิดนั้นๆ แล้วนำมาคำนวณหาผลผลิตที่คาดว่าจะได้ คูณกับราคาพืชเกษตรล่วงหน้า ถ้าหาไม่ได้ก็อาจจะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 5-10 ปีแทน จนกว่าจะเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นๆได้ แล้วนำรายได้จากการขายบางส่วนมาทยอยชำระหนี้ดังกล่าว

ข้อสำคัญ ธกส. ต้องให้เกษตรกรสามารถเบิกถอนได้เพียงเดือนละครั้ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของเกษตรกรนั้นๆจนกว่าจะมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยว และอย่าให้เป็นรายปี มิฉะนั้น เกษตรกรจะใช้เงินหมดตั้งแต่ต้นปี และจะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามปัญหาหนี้เสียจากการที่เกษตรกรขายผลผลิตแล้วไม่นำเงินไปชำระหนี้ ช่วงนี้พอดีเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้บต่ำ

ดังนั้นรัฐบาลจะมีต้นทุนในการดำเนินการไม่สูงนัก แต่อยากให้กู้แต่เกษตรกรที่เปลี่ยนพืชเกษตรจากตัวเดิมไปเป็นตัวใหม่ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการเกษตร เท่านั้น โดยอาจจะเพิ่มเติมเงื่อนไขที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรที่เกี่ยวข้องรับรองเป็นพยานว่า ได้มีการเปลี่ยนชนิดของพืชเกษตรตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เกษตรคนดังกล่าว

8.ส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ๆทำ CONTRACT FARMING กับเกษตรกร โดยรัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและรัฐเองต้องเป็นผู้ประสานงานและดูแลสัญญา ไม่ให้เอกชนเอาเปรียบเกษตรกร ถ้ามีบริษัทใหญ่ๆสนใจทำกันมากๆ ก็จะเป็นการลดภาระของรัฐได้มาก

9.แนะนำให้คนทั่วโลกได้รู้จักผลไม้ไทยมากขึ้น โดยการจัดงานแนะนำในงานที่เกี่ยวกับ FOOD EXHIBITION, SUPERMARKET CHAIN และห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆในต่างประเทศ ดูอย่างทุเรียน พอคนจีนรู้จัก ออร์เดอร์นำเข้าก็ถล่มทลายเลยทีเดียว

ผมมั่นใจว่าถ้ารัฐบาลทำตามที่ผมแนะนำไว้ 9 ช้อข้างต้น จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว เพราะการผลิตอะไรก็ตามเพื่อขาย ควรจะดู Demand/Supply เป็นหลัก รวมทั้งแนวโน้มราคาตลาดโลก เราไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าเกษตรกรรมในตลาดโลกได้ ดังนั้นเราจะมาผลิตโดยไม่ลืมตาดูโลกภายนอก ปัญหาก็จะวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนกับที่เราเห็นชาวนายกขบวนมาให้รัฐบาลช่วยเหลือกันเกือบทุกปี