posttoday

Mortgage – backed securities (MBS) อีกหนึ่งทางเลือกการลงทุน

16 กันยายน 2559

โดย ศิริพร สินาเจริญ , CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงศรี

โดย ศิริพร สินาเจริญ , CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงศรี

เมื่อเดือนที่แล้ว ดิฉันได้เล่าให้ผู้อ่านฟังถึงการลงทุนที่เรียกว่า “Income Investing”  ซึ่งกองทุนจะใช้กลยุทธ์การลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจากการลงทุนในตราสารต่างๆ เช่น หุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผล พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ รวมถึงกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีการรับค่าเช่าเป็นรายงวด เป็นต้น

นอกจากหลักทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ในครั้งนี้จะมาเล่าถึงหลักทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ     นั่นก็คือ Mortgage-backed securities (MBS) หรือ หลักทรัพย์ที่ได้รับกระแสเงินสดจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์  โดยสามารถแบ่งประเภทของ MBS ตามชนิดของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่มาของกระแสเงินสด  ได้แก่ Residential mortgage-backed securities (RMBS)  ซึ่งเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย และ Commercial mortgage-backed securities (CMBS) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าขาย  เช่น  อาคารสำนักงาน โรงแรม หรือ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

นักลงทุนหลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่า MBS เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกในช่วงปีค.ศ.2007-2008 โดยก่อนเกิดวิกฤตการณ์นั้นราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเก็งกำไร  และมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมากถูกปล่อยให้กับผู้กู้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ และสถาบันการเงินนำสินเชื่อเหล่านี้ไปขายต่อให้นักลงทุนในรูปของMBS ต่อมาเมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯปรับลดลงและผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ที่ลงทุนในMBSในขณะนั้นจึงไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังและผู้ลงทุนบางรายอาจสูญเสียเงินลงทุน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาบ้านโดยเฉลี่ยมีการปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในปีค.ศ.2012  โดยในปัจจุบันราคาบ้านอยู่ใกล้กับระดับสูงสุดในอดีตที่ผ่านมา ด้านรายได้ก็เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับต่ำทำให้ประชาชนมีความสามารถในการผ่อนชำระมากขึ้น

Mortgage – backed securities (MBS) อีกหนึ่งทางเลือกการลงทุน

 

โดยปรกติแล้วอัตราผลตอบแทนของ MBS จะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุเท่ากัน (ตามตารางประกอบ)เพื่อชดเชยความเสี่ยงอันเกิดจากการที่ลูกหนี้มีการชำระหนี้ก่อนกำหนด ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง และในส่วนของ MBS ที่ไม่ได้รับรองโดยหน่วยงานของรัฐบาล เช่น Ginnie Mae, Fannie Mae และ Freddie Mac ในสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า Non-agency MBS อาจมีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้                                                               

สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงเหล่านี้ได้MBS ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือ จากเงินกู้ภาคเอกชนที่สามารถใช้เพิ่มอัตราผลตอบแทน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำเช่นในปัจจุบัน

ข้อดีอื่นๆของ MBS คือ มีสภาพคล่องที่ค่อนข้างสูง จากตัวเลขของ Securities Industry and Financial Markets Association (SIFMA) ตลาด Agency MBS นั้นมีมูลค่ามากกว่าหกล้านล้านดอลล่าร์และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันราวๆสองแสนล้านดอลล่าร์ นอกจากนี้ MBS ยังคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของ Barclays U.S. Aggregrate Bond Index (เทียบกับหุ้นกู้เอกชนที่ครองสัดส่วนร้อยละ 25) และยังเป็นหลักทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ด้านราคากับหุ้นน้อย (ตามตารางประกอบ) ดังนั้นการลงทุนใน MBS จึงเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น

อย่างไรก็ตาม ราคาของ MBS ยังคงแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับตราสารหนี้ทั่วไป กล่าวคือ ราคาของ MBS จะปรับลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นการลงทุนใน MBS จึงมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยซึ่งอาจส่งผลให้เกิด capital loss ได้ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกับการลงทุนในตราสารหนี้อื่นๆ

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนใน MBS ควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละภูมิภาคและแต่ละประเภทมากพอสมควร หรือพิจารณาลงทุนผ่านกองทุนที่มีทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนใน MBS   ซึ่งจะสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการวิเคราะห์ข้อมูลของอสังหาริมทรัพย์แต่ละแห่งได้อย่างละเอียดรอบด้าน เพื่อให้สามารถเลือกลงทุนใน MBS ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

Mortgage – backed securities (MBS) อีกหนึ่งทางเลือกการลงทุน

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีกองทุนชั้นนำที่เน้นการลงทุนแบบ Income Investing จะพิจารณาลงทุนใน MBS เป็นอันดับต้นๆ ร่วมกับหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงอื่นๆ เช่น High-Yield Corporate Bonds และ Emerging Market Bonds เพราะเล็งเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอจากการลงทุน

สุดท้ายนี้ หลักทรัพย์ต่างๆล้วนให้อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป นักลงทุนจึงควรเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในระดับที่ตนเองยอมรับได้ นอกจากนี้การกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลายประเภทจะช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอเนื่องจากอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์แต่ละประเภทมักจะแปรผันไปตามปัจจัยต่างๆที่แตกต่างกันค่ะ

แล้วพบกันใหม่ฉบับวันพฤหัสบดีกลางเดือนตุลาคมนะคะ สวัสดีค่ะ