posttoday

เบร็กซิตกับศูนย์กลาง การเงินโลก (2)

20 กรกฎาคม 2559

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย กิติชัย  เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

บทความที่แล้วผมกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากประชามติสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) และปัจจัยต่างๆ ที่เมืองใดเมืองหนึ่งจะมาแทนที่ลอนดอนในการเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก โดยได้กล่าวถึงเมืองแฟรงก์เฟิร์ตไปแล้ว บทความนี้เรามาดูเมืองถัดไปกันครับว่าจะมีเมืองไหนอีกที่มีโอกาสเข้ารอบกัน

2.ปารีส เป็นเมืองที่มีสนามบินที่วุ่นวายที่สุดอันดับ 2 รองจากสนามบินฮีทโธรว์ ในลอนดอนและมีรถไฟใต้ดินถึง 16 สาย สถานีรถไฟใต้ดิน 303 สถานี และเมื่อเอาความยาวของทั้ง 16 สายมารวมกันจะเท่ากับ 220 กิโลเมตรเลยทีเดียว แต่ข้อเสียคือ ชาวฝรั่งเศส ไม่ค่อยใช้ภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบกับชาวเยอรมัน โดย 39% ของฝรั่งเศสที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ในขณะที่ชาวเยอรมันมีถึง 60-70% และความเป็นมิตรกับชาวต่างชาติบวกกับค่าครองชีพที่สูงมาก และระบบการจ้างงานของฝรั่งเศสค่อนข้างจะเข้มงวดในเรื่องปลดพนักงาน ลดทอนความน่าสนใจลงไป

3.ดับบลิน (เป็นเมืองหลวงของไอร์แลนด์) เป็นเมืองที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม พร้อมทั้งมีโรงเรียนดีๆ อยู่มากมาย กฎระเบียบและสภาพการทำงาน
ที่ไม่เข้มงวดนักเมื่อเปรียบเทียบกับปารีสและแฟรงก์เฟิร์ต แต่จุดอ่อนคือมีสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นความถี่ของเที่ยวบิน และจุดหมายปลายทางโดยตรงที่ด้อยกว่า 2 เมืองแรก และไม่ได้อยู่บนแผ่นดินใหญ่ของทวีปยุโรป รวมทั้งไกลจากประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู)

4.อัมสเตอร์ดัม 90% ของชาวดัตช์สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี รวมทั้งมีโรงเรียนนานาชาติดีๆ มากมาย การคมนาคมทางอากาศและรถไฟจัดได้ว่าดีเยี่ยม ทั้งอัมสเตอร์ดัมจัดได้ว่าเป็นศูนย์การทางการค้าของยุโรป และมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการจ้างงานที่ผ่อนคลายกว่าฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่มีจุดด้อยคือ เมื่อหลังจากที่เกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อคราวที่แล้ว ทางเนเธอร์แลนด์ได้ออกกฎมิให้สถาบันการเงินจ่ายโบนัสเกินกว่า 20% ของเงินเดือนทั้งปีของพนักงาน

5.ลักเซมเบิร์ก 56% ของประชากรสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และ 84% ของประชากรสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้อีก 2 ภาษา ปัจจุบันลักเซมเบิร์กก็เป็นเมืองที่ติดอันดับที่ 14 ในดัชนีศูนย์กลางการเงินของโลก และยังเป็นที่รู้ๆ กันว่าเป็นแทกซ์ เฮเวนอีกเมืองหนึ่ง แต่ความที่เป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรน้อยกว่า 6 แสนคน ในขณะที่มีบุคลากรที่อยู่ในธุรกิจด้านบริการทางการเงินในลอนดอนมากถึง 3.6 แสนคน การที่จะรับมือกับการเคลื่อนย้ายของบุคลากรเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย (ข้อมูลจากเดอะนิวยอร์กไทมส์)

คงต้องติดตามต่อไปว่า จะมีการย้ายกันอย่างที่กลัวหรือไม่ เพราะบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ส่วนใหญ่เริ่มคิดที่จะตั้ง EU-Based Management Companies กันแล้ว และจากการสำรวจความคิดเห็น พบว่า 7% มีแนวโน้มที่จะย้ายออกจากสหราชอาณาจักร (ยูเค)

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ด บอกว่า ถ้าหลังเบร็กซิตมีการเปลี่ยนแปลงด้านภาษีก็จะย้ายออกจากยูเคอีก 17% ยังลังเล ยิ่งไปกว่านั้นยูเคน่าเป็นห่วงหลังจากที่เสียงลงคะแนน (โหวต) ในประเทศได้สร้างความแตกแยก ยากที่จะเยียวยากันได้ จากการที่ไอร์แลนด์เหนือกับสกอตแลนด์ เสียงโหวตอยู่ในอียูมากกว่าเบร็กซิตพอสมควร ในขณะที่อังกฤษ (ไม่รวมลอนดอน) กับเวลส์ กลับโหวตออกมากกว่าอยู่ และสกอตแลนด์เพิ่งจะมีการทำประชามติว่าจะคงอยู่ในยูเคหรือไม่ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2557 โดยเสียงส่วนใหญ่ที่โหวตว่าจะอยู่ในยูเคมี 55.3% ขณะที่ขอแยกตัว 44.7% และหลังจากผลโหวตออกทางสกอตแลนด์ ทาง Nicola Sturgeon (นายกรัฐมนตรีคนแรกของสกอตแลนด์) ก็มีความคิดที่จะให้มีการโหวตเรื่องการคงอยู่กับยูเคต่อไปหรือไม่อีกครั้ง

เจพีมอร์แกน ทำนายว่า สกอตแลนด์จะมีการโหวตในเรื่องดังกล่าวภายในปี 2562 ช่วงที่ยูเคจะออกจากอียูมีผลอย่างแท้จริง แล้วก็จะมีเงินตราในสกุลของตัวเอง ถ้าโหวตออกจากยูเคชนะ