posttoday

“มุมมองเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนครึ่งหลังปี 2559”

14 กรกฎาคม 2559

โดย ศิริพร สินาเจริญ , CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงศรี

โดย ศิริพร สินาเจริญ , CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงศรี

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ ครึ่งปีแรกผ่านพ้นไปแล้ว ท่ามกลางภาวะตลาดที่ผันผวน โดยช่วงต้นปีตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงแรงจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและค่าเงินหยวน แต่หลังจากนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกก็ค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว เนื่องจากค่าเงินหยวนเริ่มมีเสถียรภาพ และมองว่าเศรษฐกิจจีนเพียงแค่ชะลอตัว ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปต่างปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันฟื้นตัว ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะเป็นไปอย่างช้าๆ

แต่อย่างไรก็ดี ก่อนสิ้นไตรมาส 2 เพียงไม่กี่วัน ผลการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร ได้สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงแรง ในขณะที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง (ราคาปรับตัวสูงขึ้น) ตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีมากขึ้น

จากเหตุการณ์ประชามติช็อคโลก “Brexit” จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะงักลงไปหรือไม่ เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้จะเป็นอย่างไร และควรจะจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร?

เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศในกลุ่มสหราชอาณาจักรเอง เนื่องจากจะต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเข้าถึงตลาดอียูและสิทธิประโยชน์ต่างๆที่เคยได้รับจากการเป็นสมาชิกอียู สถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของกรุงลอนดอนก็อาจจะสั่นคลอนค่อนข้างมาก

ในส่วนของอียูอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่สนับสุนนงบประมาณของอียู ดังนั้น การออกจาก   อียูของสหราชอาณาจักรจึงส่งผลให้งบประมาณของอียูลดลง ในขณะที่การค้าระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรก็จะลดลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจของอียูน่าจะมีไม่มากอย่างที่ตลาดกังวล เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอียูมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ในขณะที่การอ่อนค่าของค่าเงินยูโรกลับจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในกลุ่มยูโรโซนให้สูงขึ้น

สำหรับสหรัฐอเมริกา อาจได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และเฟดก็น่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อนเพื่อรอดูผลกระทบจาก Brexit แต่โดยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งการที่ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่งและอัตราการออมอยู่ในระดับสูง ดังนั้นการบริโภคภายในประเทศของสหรัฐน่าจะยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนบริษัทของสหรัฐก็มีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รายได้ของบริษัทสหรัฐจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมาก

ทางด้านเอเชียน่าจะเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากมีการค้ากับสหราชอาณาจักรไม่มาก และการลงทุนโดยตรงจากสหราชอาณาจักรก็มีไม่มากเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ในขณะที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีซึ่งมีสัญญาณฟื้นตัว โดยแรงหนุนหลักยังคงมาจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ดีกว่าที่คาด ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐปรับตัวเลขคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีหลายโครงการที่รอการประมูล และหลายโครงการรอการอนุมัติเบิกจ่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวหลังปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย และหนี้ภาคครัวเรือนค่อยๆลดลง และการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะทยอยมีมากขึ้นตามการลงทุนของโครงการภาครัฐ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะส่งผลต่อเนื่องต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่เน้นเพิ่มการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และลดการพึ่งพาการส่งออก ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันกับหลายๆประเทศ เช่น เยอรมนี จีน และกลุ่มประเทศในอาเซียน ที่หันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าการส่งออก

สำหรับพอร์ตการลงทุนที่น่าจะเหมาะสมกับผู้รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง แนะนำให้มีการลงทุนในหุ้นไทยราว 30% โดยเน้นหุ้นที่มีการเติบโตสูง เพราะจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีต่อไปจนถึงปีหน้า และคาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดี และมีแรงหนุนทางเศรษฐกิจจากหลายปัจจัยดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้  ควรกระจายการลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศราว 30% โดยเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจน้อย ทั้งนี้คาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะยังคงเติบโตได้ดีต่อไป ใน

ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียน่าจะยังคงได้แรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้า ส่วนตลาดหุ้นยุโรป ถึงแม้มีความไม่แน่นอนจาก Brexit แต่ก็ยังมีหุ้นหลายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และอาจจะได้รับประโยชน์จาก Brexit เนื่องจากบริษัทคู่แข่งจากอังกฤษสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่วนที่เหลืออีก 40% แนะนำให้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดโลก

แล้วพบกันใหม่ฉบับวันพฤหัสบดีกลางเดือนสิงหาคมนะคะ สวัสดีค่ะ