posttoday

หลักเศรษฐศาสตร์ของการลงทุนในสโมสรฟุตบอล

31 พฤษภาคม 2559

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP® นายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

หลายครั้ง เรามักจะพูดว่า เจ้าของสโมสรฟุตบอลจะเป็นคนที่รู้ราคาของทุกอย่าง แต่ไม่รู้มูลค่าของสิ่งใดเลย ตามธรรมเนียมปฏิบัติ พ่อค้าพื้นเมืองมักจะเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล ธุรกิจเขาจะต้องมีอะไรที่เชื่อมโยงกับฟุตบอล หรือมีผลิตภัณฑ์ที่แฟนฟุตบอลต้องการซื้อ ผมพนันได้เลยว่า คุณคงไม่ทราบว่า คนผลิตเบียร์ ผู้ผลิตเสื้อผ้า และคนขายเนื้อสัตว์ ล้วนแต่เคยเป็นเจ้าของสโมสร Manchester United ในช่วง 132 ปีที่ผ่านมา

แต่ในช่วงหลัง กลุ่มเจ้าของสโมสรฟุตบอลอังกฤษมักจะเป็นคนต่างชาติที่มีวัตถุประสงค์หลักไม่เพียงแต่ค้ากำไร ซึ่งรวมถึง ผู้มีอิทธิพลในรัสเซีย ลูกน้องหรือหุ้นส่วนของเหล่าผู้เผด็จการหรือนักการเมือง ชีคอาหรับ และมหาเศรษฐีอเมริกันบางรายที่เป็นเจ้าของสโมสรชั้นนำ อาทิ Manchester United, Liverpool และ Aston Villa
เหมือนการสะสมสิ่งของอื่นๆ อย่างไวน์ราคาแพง รถโบราณ และของเก่า การเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลจะเป็นการทำให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้อยู่ในสังคมระดับสูงสุดของไทย ผมมองว่า บุคคลที่เริ่มค่านิยมดังกล่าวคืออดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเขาซื้อสโมสร Manchester City และขายทิ้งในวงเงินที่น่าพึงพอใจกับนักลงทุนจากตะวันออกกลาง ตั้งแต่นั้นมา ได้มีการเปลี่ยนเจ้าของสโมสรฟุตบอลหลายแห่ง Reading FC, Sheffield Wednesday FC, AC Milan และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Leicester City FC ล้วนแต่อยู่ในการครอบครองของมหาเศรษฐีคนไทย

เพราะฉะนั้น การลงทุนในสโมสรฟุตบอล เป็นทางเลือกทางการเงินที่ถูกต้องหรือไม่ คำตอบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการลงทุนของคุณ หากผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (Return to Equity – ROE) เป็นปัจจัยหลัก คุณน่าจะมองหาแหล่งลงทุนอื่นจะดีกว่า แต่ก็เป็นคนละเรื่องหรือเหตุผลกันหากคุณต้องการผลตอบแทนให้กับความต้องการของคุณเอง (ego)

การแสวงหากำไรจากฟุตบอลเป็นเรื่องไม่จริง เป็นที่รู้กันว่า คนที่สามารถยิ้มพร้อมกับถือเงินเอาไปฝากธนาคารจากฟุตบอลคือผู้เล่น ไม่ใช่เจ้าของสโมสร โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงจำนวนเงินการโอนนักเล่นระหว่างสโมสรในปัจจุบัน ผู้เล่นอย่าง Gareth Bale, Cristiano Ronaldo, Zinedine Zidane, Luis Figo, Hernan Crespo และ Christian Vieri ได้ถูกขายหรือสับเปลี่ยนสโมสร ในเกณฑ์ราคาที่สูงสุด หรือประมาณ 90 ล้านยูโร

หากคุณเป็นนักลงทุนทั่วไป มีสโมสรฟุตบอลหลายแห่งที่มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ อาทิ Manchester United, Lazio, Borussia Dortmund, Juventus และ A.S. Roma แต่อย่างที่ผมกล่าวขั้นต้น คุณจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหากลงทุนในกองทุนดัชนี (Index Fund) เนื่องจากราคาหุ้นของสโมสรที่กล่าวข้างต้น มีผลตอบแทนและผลดำเนินการที่ต่ำกว่าดัชนี S&P 500 ตั้งแต่สโมสรเหล่านี้เข้าตลาดหลักทรัพย์

ในทางกลับกัน หากคุณอยู่ในกลุ่ม 1% และต้องการที่มีฐานะให้เทียบเท่ากับกลุ่ม ‘King Power’ โดยการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสโมสรฟุตบอล คุณควรจะลงทุนโดยเปิดมุมมองให้กว้าง ทางเลือกหนึ่งของการเล่นเกมส์นี้ คือ ซื้อสโมสรที่อยู่ใน Championship league (Division 2) อยู่แล้ว ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า Barclays Premier League (หรือที่รู้จักกันในนามของ Division 1) และได้รับให้เลื่อนเข้าไปเล่นในลีกที่สูงขึ้น ก็จะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำกำไรได้ แต่ก็ต้องขึ้นกับการขยายฐานแฟนบอล ต้องมีสนามเล่นที่ทันสมัย และมีทีมที่มีความสามารถสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ได้มาในราคาที่ถูกมาก

สัดส่วนของฐานแฟนบอล สนามเล่น และประวัติศาสตร์ของสโมสร เป็นสิ่งที่ทำรายได้สูง ซึ่งก็จะทำให้สโมสรสามารถซื้อตัวผู้เล่นที่มีชื่อเสียง ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยหลักในการนำไปสูงความสำเร็จในธุรกิจและการเล่นฟุตบอล ผู้เล่นชื่อดังจะดึงดูดให้มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์มากขึ้น และจะเป็นแรงกระตุ้นยอดขายของที่เกี่ยวกับสโมสร เกมส์ฟุตบอลมักจะตัดสินด้วยการชนะเพียง 1-2 ประตูเท่านั้น จึงทำให้ความสามารถของผู้เล่นมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

เมื่อคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะสามารถมองเห็นว่า มีเพียงไม่กี่สโมสรเท่านั้นที่ประสบผลสำเร็จในเรื่องของเกมส์ฟุตบอลและรายได้ และไม่เป็นที่แปลกใจที่ในฤดูการเล่นที่แล้ว น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสโมสรใน English Premier League มีผลกำไร และยังมีจำนวนสโมสรน้อยลงที่ทำกำไรเมื่อเราดูลีคที่ต่ำลงไปอีก

แม้แต่ทีมที่ชื่อเสียง ลู่ทางสู่ความสำเร็จก็ไม่ได้ราบรื่นตลอดไป ผู้เล่นที่มีมูลค่าสูง มูลค่าการลงทุนในสนามเล่นที่สูง และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะทำให้สโมสรรักษาสถานะอยู่ได้ ทำให้ไม่มีผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นที่มากนัก เมื่อสโมสรอย่าง Manchester United มีการซื้อขายล่วงหน้า ในอัตราส่วนของราคาต่อกำไร (Price-to-Earnings Ratio) ที่ 60 เท่า ผมก็จะเป็นคนหนึ่งที่นั่งรอดูเกมส์ฟุตบอล แต่จะเลือกเอาเงินไปลงทุนที่อื่น