posttoday

รัฐใช้งบประมาณอย่างไรให้คุ้มค่า สรุปตอนที่ 1

31 มีนาคม 2559

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์     

บทความ 3 ตอนที่แล้วพูดถึงเรื่องปฏิรูปการศึกษา Logistics และ การส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรในประเทศ บทความนี้จะเป็นการสรุปคำแนะนำเพื่อมิให้รัฐต้องมาทำนโยบายประชานิยมแบบไม่ถูกต้อง ที่เป็นการแก้ปัญหาตรงปลายเหตุ โดยสาเหตุของปัญหาไม่ได้ถูกแก้ ทำให้เกิดวังวนของปัญหา เกิดซ้ำๆกันทุกปี ต้องใช้งบประมาณปีละหลายแสนล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ร่ำไป
มาตรการที่รัฐควรจะนำมาใช้

1. ระบบการศึกษา จัดทำการแข่งขันแบบ REALITY SHOW เพื่อคัดอาจารย์แต่ละวิชา และแต่ละชั้นการศึกษา เพื่อให้ได้อาจารย์ที่สอนเก่ง (มีสาระ และสนุกไม่น่าเบื่อ) แล้วนำมาอัด VDO สอนวิชานั้นๆ แล้วแจกจ่ายไปยังทุกโรงเรียนทั่วประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องจัดงบ จัดซื้อเครื่องเล่น VDO ที่ปัจจุบันราคาถูกมาก ประมาณ 1,000 บาท ต่อเครื่อง ให้ทุกห้องเรียนของทุกโรงเรียน แล้วให้อาจารย์ประจำวิชานั้นๆ เป็นครูผู้ช่วยสอน คอยอธิบายกรณีนักเรียนดู VDO แล้วไม่เข้าใจ นั่นหมายถึงคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยจะมีความเหลื่อมล้ำกันน้อยลง ระหว่างเด็กนักเรียนโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพฯกับเด็กนักเรียนโรงเรียนต่างจังหวัด และคุณภาพของเด็กไทยรุ่นใหม่ก็จะสามารถแข่งขันกับเด็กชาติอื่นๆ ซึ่งจะนำพาอนาคตที่ดีสู่ประเทศไทยเรา

2.ระบบ Logistics ต้องเก็บภาษี Capital Gain Tax กับเจ้าของที่ดินที่อยู่รอบๆสถานีรถไฟฟ้า และแนวเส้นรถไฟฟ้า เพราะได้รับประโยชน์เต็มๆจากราคาที่ดินที่มีมูลค่าสูงขึ้น จากการที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน และให้เวนคืนที่ดินเพื่อสร้างส่วนที่เป็น Commercial โดยให้เอกชนบางส่วนมาประมูลแข่งขันกันสร้างเป็น Mixed Used Complex โดยจ่ายผลประโยชน์บางส่วนให้รัฐ จะทำให้พื้นที่รอบๆสถานีดูสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ต้องโดนพวกหาบเร่แผงลองยึดครอง เป็นที่ทำมาหากิน ปล่อยความสกปรก และกีดขวางการเดินทางของคนเดินอย่างที่เราเห็นๆกันอยู่ นอกจากนั้นร้านค้าใน Complex พวกนี้ยังไงก็ต้องเสียภาษี รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่มด้วย

3.ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรในประเทศ โดย

3.1 ให้สิทธิประโยชน์ BOI  โดยไม่เก็บภาษีเครื่องจักรนำเข้า ปลอดภาษีเงินได้ 5 ปีแรก จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยคิดที่อัตรา 0%  และปลอดภาระดอกเบี้ย สำหรับ 3 ปีแรก หลังจากนั้นก็ให้คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำๆอีกสัก 2 ปี พอหลังจาก 5 ปีไปแล้ว ค่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามอัตราตลาด โดยเน้นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ยางพารา และข้าว ซึ่งเป็นตัวสร้างปัญหา และภาระให้กับรัฐบาลมาตลอด เคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไมมาเลเซียถึงมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพาราที่ยิ่งใหญ่กว่าไทยเรา ทั้งๆที่ไทยเราเป็นประเทศที่ผลิตยางได้มากที่สุดในโลก นั่นเป็นเพราะวิสัยทัศน์ของรัฐบาลมาเลเซียที่เหนือกว่าไทยเราอย่างมาก มิฉะนั้น GDP PER CAPITA ของมาเลเซียจะเป็น 2 เท่าของไทย ทั้งๆที่ 30 ปีที่แล้วยังใกล้เคียงกันอยู่เลยได้หรือ

ทีแรกตั้งใจจะสรุปในตอนนี้ตอนเดียว แต่ด้วยเนื้อหาที่มาก คงต้องมาอ่านตอนจบในบทความหน้ากันครับ