posttoday

รัฐใช้งบประมาณอย่างไรให้คุ้มค่า (ตอนที่1)

09 มีนาคม 2559

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์                                                                            

หลายสิบปีที่ผ่านมา ผมเฝ้าดูวิธีการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลไม่ว่ากี่ชุดที่ผ่านมา โดยการรับจำนำหรือประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง นม ฯลฯ และงบประมาณที่ต้องใช้ในการอุดหนุนราคาผลิตผลดังกล่าว ในช่วงเวลาที่ราคาในตลาดโลกตกต่ำ ยิ่งสูงมากขึ้นทุกปี เป็นหลักหลายแสนล้านบาท ซึ่งการผลาญงบประมาณแผ่นดิน โดยการนำเงินที่รีดเลือดปู จากผู้เสียภาษีเงินได้ นำไปใช้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบนี้ ดูไม่เหมาะสมเลยทีเดียว เพราะว่าต้องคอยแก้ปัญหาแบบนี้ทุกปี ทำไมรัฐบาลไม่คิดที่จะแก้ที่ต้นเหตุ เพื่อจะได้ขจัดปัญหาแบบถาวร มิฉะนั้นแค่ 2 ปีก็ต้องละลายงบเพื่อแก้ปัญหานี้เป็นหลักล้านล้านบาทแล้ว ท่านสมคิดก็พูดเองว่า ไม่อยากจะต้องไปแบกหน้าไปขอร้องให้ประเทศต่างๆช่วยซื้อข้าว ยางพารา ฯลฯ จากเรา เราควรจะโตได้แล้ว ไม่ใช่ทำตัวเป็นเด็กที่ต้องไปขอความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ อยู่เรื่อยๆ

ผมเห็นว่ารัฐควรจะใช้งบประมาณแผ่นดินในด้านต่อไปนี้

1.การปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งน่าจะใช้งบประมาณไม่มากมาย แต่เป็นการแก้ปัญหาได้จริง และคุณภาพของเด็กไทยรุ่นใหม่ที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และความรู้ที่คับแก้วไว้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งตอนนี้ AEC มีผลทางปฏิบัติแล้ว และทั่วโลกได้อย่างไม่อายใคร โดยให้การศึกษาภาคบังคับขั้นต่ำเป็นชั้น ม.6 หรีอ ปวช ทั่วประเทศ และเพิ่มคุณภาพของระบบการเรียนการสอน โดยให้มีการจัดการแข่งขันของครูอาจารย์ในระดับชั้นต่างๆ (ชั้นประถม ม.ต้น และ ม.ปลาย )และแยกเป็นรายวิชา ทั่วประเทศ โดยกำหนดรางวัลให้มีมูลค่าสูง และมีการถ่ายทอดออก TV จะเป็นการกระตุ้นให้คุณครูอาจารย์ทั้งหลายอยากจะเข้าร่วมแข่งขันเพื่อเงินรางวัลและชื่อเสียง และคัดเอาผู้ชนะเลิศที่จะได้จากการ VOTE จากผู้ชมทางบ้าน และคณะกรรมการตัดสิน โดยเน้นทั้งเพื่อสาระ รวมทั้งความสนุกสนาน เพื่อให้นักเรียนตั้งใจเรียน ไม่รู้สึกเบื่อที่จะต้องมานั่งเรียนหนังสือ แล้วให้ผู้ชนะเลิศในแต่ละระดับชั้น และแต่ละวิชามีการอัด VDO สอนวิชาของแต่ละระดับชั้นเรียน แล้วส่งไปให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทย กระทรวงศึกษาต้องตั้งงบเพื่อสั่งซื้อเครื่องเล่น VDO แจกจ่ายให้ทุกห้องเรียนของทุกโรงเรียนทั่วประเทศไทย โดยให้คุณครูที่สอนเปลี่ยนหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอน โดยมีหน้าที่เปิด VDO ดังกล่าวให้นักเรียน ดู เม่อนักเรียนมีข้อสงสัย ก็ PAUSE VDO แล้วคุณครูที่สอนก็อธิบายให้นักเรียนฟัง เมื่อทำเช่นนี้แล้วคุณภาพการศึกษาของเด็กนักเรียนไม่ว่าจะเป็นเขตเทศบาล นอกเขตเทศบาล ต่างจังหวัด หรือกรุงเทพฯ ก็จะมีคุณภาพใกล้เคียงกัน เราจะไม่เห็นความเหลื่อมล้ำอย่างมากมายของเด็กนักเรียนโรงเรียนบางหมาว้อ กับโรงเรียนเตรียมอุดมอีกต่อไป เนื่องจากเด็กนักเรียนทุกคนจะเรียนกับอาจารย์คนเดียวกัน คุณภาพการศึกษาของเด็ก GENERATION ใหม่ของไทยเรา ก็จะไม่ด้อยไปกว่าเด็กสิงคโปร์มากนัก

สิงคโปร์เป็นประเทศที่แทบจะไม่มีทรัพยากรอะไรเลย เมื่อ 40ปีที่แล้ว ก็ไมได้ดีเด่นกว่าประเทศไทยเรา แต่เมื่อปี 2557 GDP PER CAPITA ของสิงคโปร์ = 56,319$( ปี 2556  = 55,980$ ) ขณะที่ของมาเลเซีย = 10,804 ( ปี 2556 =10,457$) และไทย =5,445$ ( ปี 2556=5,670$) จะเห็นได้ว่า GDP PER CAPITA ของสิงคโปร์มากกว่า 10 กว่าเท่าของไทยแล้ว ในขณะที่มาเลเซียเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ยังอยู่ในระดับเดียวกันกับเรา ล่าสุดก็มากวว่าไทยเรา 2 เท่าแล้ว ยิ่งดูเปรียบเทียบระหว่างปี 2556 กับ 2557 ประเทศเพื่อนบ้านเรา ยังมีการเติบโต ในขณะที่ของเรากลับติดลบ ถึงเวลาที่จะปฏิรูประบบการศึกษาของไทยเรารึยัง ยิ่งปัจจุบัน AEC เริ่มมีผลทางปฏิบัติแล้ว หรือเราอยากจะเห็นเวียตนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แซงหน้าเราไปอีกหรือ

จากการได้รับสัมผัสโดยตรงของผมระหว่างเด็กนักเรียนไทย เมื่อเทียบกับ สิงคโปร์และมาเลเซีย ต้องยอมรับจริงๆว่าคุณภาพของเราแย่กว่า 2 ชาติเพื่อนบ้านจริงๆ นอกจากนั้น ควรจะเปิดโครงการฝึกวิชาชีพในหลายสาขา โดยคนที่มานั่งเรียนจนจบคอร์สโดยมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 80% และสอบผ่านทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ จะได้รับเงินทุนตั้งตัวคนละ 1 ก้อน โดยรัฐจะต้องประชาสัมพันธ์ผ่านทั้งสื่อของรัฐบาลเอง และขอความร่วมมือเอกชน ช่วยประชาสัมพันธ์อีกแรง ต่อไปข้างหน้า เราจะได้ไม่ต้องมาคอยแจกผ้าห่มกันอีกทุกปี เพราะประชาชนมีรายได้มากขึ้น  เนื้อที่หมดแล้ว ไว้มาอ่านตอนที่ 2 ในบทความหน้าครับ