posttoday

จัดพอร์ตเกษียณด้วยกองทุน RMF

30 ตุลาคม 2558

เข้าสู่ฤดูแห่งการลดหย่อนภาษีอีกครั้ง ใครที่ยังไม่ได้เตรียมการลดหย่อนภาษีให้พร้อมรับสิ้นปี ผมแนะนำว่าให้รีบวางแผนกันนะครับ

โดย ธนัฐ ศิริวรางกูร นักวางแผนการเงินอิสระ

เข้าสู่ฤดูแห่งการลดหย่อนภาษีอีกครั้ง ใครที่ยังไม่ได้เตรียมการลดหย่อนภาษีให้พร้อมรับสิ้นปี ผมแนะนำว่าให้รีบวางแผนกันนะครับ เพราะว่าถ้าไม่รีบวางแผนละก็การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีช่วงปลายปีนั้น มีโอกาสที่เราจะได้ราคาหน่วยลงทุนแพงก็มีสูงขึ้นครับ
   
ยิ่งไปกว่านั้นการซื้อช่วงปลายปีนั้น อาจจะได้รับการบริการที่ไม่ดี เพราะว่ามีคนซื้อเยอะ แต่คนบริการมีไม่มากพอ ก็อาจจะทำให้หงุดหงิดกันทั้งพนักงานขาย และลูกค้าเอง เผลอ ๆ จะทำให้เราพลาดการซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีไปได้ ยิ่งซื้อช่วงปลายเดือนธันวาคม
   
ใครอยากจะทราบว่าตนเองต้องซื้อกองทุน LTF/RMF เท่าไหร่จึงจะเพียงพอ หรือ พอเพียง และคุ้มค่าก็ไม่ได้ยากอะไร เดี๋ยวนี้ก็มี application หรือ website ที่ทำหน้าที่คำนวนการลดหย่อนภาษีให้ แถมยังพิมพ์ฟอร์มเพื่อยื่นภาษีให้ได้ด้วย ลองกรอกดูกันได้ที่ https://www.itax.in.th/ ทำให้ผมเชื่อว่าการวางแผนภาษีไม่ได้ยากอย่างที่คิดอีกแล้วครับ
   
การกำหนดเป้าหมายการลงทุนในกองทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ ผมขอบอกว่าสำคัญมากกว่าการซื้อกองทุนแค่เพื่อลดหย่อนภาษีเสียด้วย เพราะเป้าหมายแท้จริงของกองทุน LTF/RMF นั้น คือการให้นักลงทุน ลงทุนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น โดยเฉพาะกองทุน RMF ที่สร้างมาเพื่อให้คนทั่วไปเก็บเงินเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ เราจึงเห็นว่ากองทุน RMF นั้นมีเงื่อนไขการลงทุนที่ค่อนข้างยาวคือ จะขายได้ก็ต่อเมื่อถือครองจนถึงอายุ 55 ปี และถือครองมาแล้วไม่ต่ำว่า 5 ปี
   
ซึ่งมีรูปแบบกองทุนมากมายให้เลือก เพื่อให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล จึงไม่ใช่มีแค่กองทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง LTF ที่จะเน้นสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงถึง 65% ของพอร์ตการลงทุนของกองทุน
   
ดังนั้น ถ้าเป้าหมายการลงทุนของเรานั้นคือการเกษียณแล้วละก็ กองทุน RMF น่าจะเป็นกองทุนที่น่าจะคิดถึงก่อน LTF เสียด้วยซ้ำครับ เราจึงควรที่จะคำนวนเงินเกษียณก่อนว่า เราจะต้องลงทุนอย่างน้อย ๆ เดือนละเท่าไหร่ และผลตอบแทนคาดหวังที่เหมาะสมกับความเสี่ยง จึงจะมีเงินพอใช้หลังเกษียณ เมื่อทราบแล้ว เราก็ค่อยเลือกกองทุนเพื่อลงทุนในระยะยาว
   
แต่กองทุน RMF แบบไหนกันละ? ที่จะตอบโจทย์ของนักลงทุนในระยะยาว ๆ ได้ แน่นอนว่า ผม หมอนัทคนนี้ มีคำตอบให้ครับ ซึ่งถ้าหากเราลองพิจารณา ถึงความสม่ำเสมอของผลตอบแทนการลงทุน และความเสี่ยงของการลงทุนที่ไม่มากเกินไปนั้น กองทุนที่น่าสนใจมีอยู่ไม่เยอะครับ เช่น
   
1.กองทุน RMF ที่เป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศ

กองทุนที่น่าสนใจก็ได้แต่ กองทุนกลุ่ม Silver age ที่เน้นการลงทุนในกลุ่มของผู้สูงอายุที่เริ่มเกษียณ และมีกำลังซื้อสูงในต่างประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะรักษาความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตหลังเกษียณ และกำลังเป็น Mega Trend ของโลกใบนี้ เนื่องจากอนาคตคนต้องใช้จ่ายเรื่องสุขภาพมากขึ้นนั่นเอง แต่ทั้งนี้กองทุนนี้ก็มีความเสี่ยง และความผันผวนระยะสั้น ต้องเน้นให้ลงทุนระยะยาว ๆ ดังนั้น การลงทุนด้วย RMF ที่ต้องมีระยะการลงทุนยาว ๆ แบบนี้ก็เหมาะเป็นอย่างยิ่งครับ
  
2.กองทุน RMF ที่เป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นแบบ Fund of Fund
เชื่อหรือไม่ว่า การลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร และความผันผวนของผลตอบแทนก็ไม่ได้มากอย่างที่คิด จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศนั้น ไม่มีปีไหนเลยทีอสังหา ฯ จะมีผลตอบแทนที่แย่กว่า การจัดส่วนการลงทุนแบบการจัดพอร์ตแบบรวมครับ ยกเว้นปีที่เกิดวิกฤต ซึ่งเพียงแค่ 1-2 ปีถัดมาก็กลับมาทำผลตอบแทนได้ดีทีเดียวครับ ดังนั้นถ้าเราถือกองทุนได้ยาว ๆ ละก็ ผมเชื่อว่าน่าจะได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอเลย
   
3.กองทุน RMF ตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว

เป็นการลงทุนที่เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงสูงไม่ได้ หรือ คนที่ใกล้จะเกษียนมากขึ้น และเราเองก็สามารถที่จะนำเอากองทุนตราสารหนี้เหล่านี้ มาเฉลี่ยความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนหุ้น RMF ได้เพื่อที่จะได้มีความเสี่ยงโดยรวมไม่สูงเกินไปได้อย่างดีเลยครับ
   
แต่ถ้าไม่อยากที่จะ เอากองทุนเหล่านี้มาจัดพอร์ตการลงทุนเอง เพราะว่าอาจจะไม่มีเวลา หรือ ไม่ได้ติดตามข่าวสารอยู่บ่อย ๆ กองทุนผสมบางประเภทก็น่าสนใจในการลงทุนระยะยาวครับ เช่น
   
1.กองทุน RMF แบบ Flexible Fund ที่มีการปรับสัดส่วนตราสารหนี้ และหุ้น ให้นักลงทุนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราเลือกกองทุนได้ดี ผมคิดว่าน่าจะทำให้เราไม่ต้องไปเครียด หรือติดตามการลงทุนมากนัก
   
2.กองทุน RMF ที่มีการปรับสัดส่วนไปยังสินทรัพย์อื่น ๆ ได้ อย่างอิสระเช่น กองทุนแบบ All Asset Allocation ซึ่งจะช่วยให้ความเสี่ยงไม่สูงมากเกินไปครับ
   
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ผมคิดว่าน่าจะพอได้กองทุน RMF ที่น่าลงทุนไปกันหมดแล้ว ในครั้งหน้า เรามาดูกองทุน RMF ที่เป็นรายกองทุนกันครับ ว่ากองทุนไหนมีผลตอบแทนอย่างไร และอะไรที่น่าลงทุนด้วยในแต่ละประเภท พบกันครั้งหน้าครับ สวัสดีครับ