posttoday

แก้กม.ประกัน คุมเสี่ยงลูกค้า

15 กุมภาพันธ์ 2562

คปภ.ชี้ กม.ประกันชีวิตวินาศภัยกำลังมีผลบังคับใช้ มั่นใจช่วยกำกับธุรกิจประกันภัย ไม่เอาเปรียบประชาชน

คปภ.ชี้ กม.ประกันชีวิตวินาศภัยกำลังมีผลบังคับใช้ มั่นใจช่วยกำกับธุรกิจประกันภัย ไม่เอาเปรียบประชาชน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ... และพระราชบัญญัติ ประกันวินาศภัย พ.ศ. ...กลุ่มที่ 1 ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว มีผลบังคับใช้ 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สำหรับร่างแก้ไขกฎหมายในกลุ่มที่ 1 มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชนโดยตรง โดยได้เพิ่มบทบัญญัติการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ปรับปรุงการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยให้เข้มข้นขึ้น ปรับปรุงมาตรการการลงโทษให้เหมาะสมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวกับประกันภัย ได้แก่ มาตรการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย บทบัญญัติเพื่อรองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในธุรกิจประกันภัย แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ประเมินวินาศภัย

นอกจากนี้ แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย กำหนดหน้าที่และความรับผิดของนิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัย บทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามตัวแทน/นายหน้าประกันภัย การตรวจสอบการปฏิบัติของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย การสั่งพักและเพิกถอนใบอนุญาตรวมทั้งการอุทธรณ์คำสั่งพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.ได้กำหนดกรอบเวลา แนวทางดำเนินการ ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน และอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง และจะอบรมสร้างความรู้กฎหมายทั้งสองฉบับให้กับบุคลากรผู้บังคับใช้กฎหมายของสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย ภาคการเงินอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

อย่างไรก็ดี การยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเพื่อให้บริษัทประกันภัยมีการบริหารจัดการที่ดี มีความมั่นคงทางการเงิน สามารถประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน ปฏิบัติตามสัญญาที่มีไว้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนจะกำกับดูแลตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค