posttoday

คลังเร่งประกันทำแผนแม่บท ลุยตปท.-รับลงทุน 3 ล้านล้าน

08 กันยายน 2561

ธุรกิจประกันภัยถือเป็นภาคการเงินที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ธุรกิจประกันภัยถือเป็นภาคการเงินที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีขนาดของธุรกรรมที่เล็กเมื่อเทียบตลาดเงินการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ และตลาดทุนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ มิติใหม่ประกันภัยไทยในยุคดิจิทัลเพื่อประชาชนในงานสัปดาห์ประกันภัย 2561 ว่า บริการทางการเงินของไทยแบ่งเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ ในส่วนที่ 1 เป็นการบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่มีมูลค่าประมาณ 13 ล้านล้านบาท หรือ 100% ของจีดีพี ในส่วนที่ 2 เป็นเรื่องการลงทุนในตลาดทุนมีมูลค่า 120% ของจีดีพี และส่วนที่ 3 เป็นภาคธุรกิจประกันภัยมีมูลค่า 3.9 ล้านล้านบาท หรือ 24-25% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับภาคการเงินของธนาคารพาณิชย์และตลาดหุ้น ยังถือว่าภาคประกันภัยยังมีขนาดเล็กอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ภาคประกันภัยก็ยังมีช่องทางขยายตัวได้อีกมากเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องร่วมกันจัดทำแผนแม่บทประกันภัยในประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความชัดเจนว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร โดย คปภ.ต้องไม่ทำหน้าที่แค่ผู้กำกับดูแลออกกฎระเบียบผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาเท่านั้น

รมว.คลัง กล่าวว่า แผนแม่บทของธุรกิจประกันภัยที่มีอยู่ทำมานานเกินไป ไม่ทันกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีมีความทันสมัย การติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจประกันภายในอนาคตจึงต้องมีแผนแม่บทที่ชัดเจนว่าจะเดินภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปใหม่อย่างไร

ทั้งนี้ แผนแม่บทควรมีความชัดเจนที่จะให้ธุรกิจประกันภัยไปรุกตลาดในต่างประเทศ เพราะการทำธุรกิจแต่ภายในประเทศก็เหมือนแย่งเค้กก้อนเดียวกันที่ยิ่งนานวันยิ่งเล็กลง ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยไปทำตลาดในต่างประเทศ ไปแย่งเค้กก้อนใหญ่กว่าในต่างประเทศและนำความมั่งคั่งกลับมาในประเทศไทย

"ธุรกิจประกันภัยไม่สามารถอยู่แต่ในประเทศได้อีกต่อไป จะให้รัฐบาลปกป้องตลาดอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ เพราะต่างประเทศในเวทีเศรษฐกิจต่างๆ ก็มีการเรียกร้องให้เปิดเสรีการเงิน รวมถึงธุรกิจประกันภัยต่อเนื่อง ดังนั้นแทนที่ประกันภัยในประเทศจะรอแต่วันที่จะเปิดเสรีประกันภายในประเทศ ควรคิดกลับกันโดยการรุกไปข้างหน้าทำตลาดในต่างประเทศ และทำแผนแม่บทประกันภัยให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวและวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบประกันภัย ทั้งเรื่องเทคโนโลยี การพัฒนาคน การกำหนดกติกา การดูแลควบคุม เพื่อให้เดินตามแผนแม่บทของธุรกิจประกันภัยที่จะทำขึ้นมาใหม่ได้" รมว.คลัง กล่าว
 
อภิศักดิ์ กล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยจะอยู่กับทฤษฎีเก่าๆ แบบที่ผ่านมาไม่ได้ คือไม่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเก่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จะได้ไม่ต้องมาแย่งเค้กกันเองภายในประเทศ ธุรกิจประกันภัยต้องคิดทฤษฎีใหม่ส่งเสริมผู้ประกอบการเก่งๆ ออกไปนอกประเทศให้ได้ เพื่อจะทำให้ธุรกิจประกันภัยของไทยขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เหมือนภาคธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องให้ธุรกิจประกันภัยมีความพร้อมเข้าไปรับทำประกันในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ที่มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท รวมถึงการลงทุนเอกชนอีกกว่า 1 ล้านล้านบาท การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การประกันสุขภาพ รวมถึงการประกันภัยพืชผล ที่เป็นช่องทางทำให้ธุรกิจประกันภัยขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด จึงต้องควรเร่งทำแผนแม่บทธุรกิจประกันภัยอย่างรวดเร็ว ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและการลงทุนของภาครัฐและเอกชน เพราะหากช้าและพ้นจากช่วงการลงทุนดังกล่าว จะทำให้ธุรกิจประกันภัยไม่มีฐานขนาดใหญ่ที่จะทำให้ขยายตัวได้มากๆ

"ประเทศไทยกำลังปรับประเทศทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จะมีการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนหลายล้านล้านบาท ถือเป็นโอกาสธุรกิจประกันภัย ที่จะทำอย่างไรที่จะมารับประกันจากธุรกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ควรปล่อยให้เบี้ยประกันที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวไหลไปต่างประเทศ ควรทำให้อยู่ในประเทศให้ได้ ซึ่งธุรกิจประกันภัยจะต้องหารือกับ คปภ.ในการทำแผนแม่บทธุรกิจประกันภัยทั้งหมด เพราะโอกาสไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่ควรปล่อยให้โอกาสที่ดีๆ อย่างนี้หลุดลอยไป" อภิศักดิ์ กล่าว