posttoday

ประกันไซส์ ‘กลาง-เล็ก’ ไม่ปรับตัว…รอดลำบาก

20 มิถุนายน 2561

“ส่วนบริษัทใหญ่ก็อยากจะโตเร็ว ก็ต้องหาทางรวมกัน บริษัทเล็กค่าใช้จ่ายแพงกว่าบริษัทใหญ่ แต่บริษัทใหญ่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าบริษัทที่ใหญ่กว่าอีก ก็อยากจะเลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ”

“ส่วนบริษัทใหญ่ก็อยากจะโตเร็ว ก็ต้องหาทางรวมกัน บริษัทเล็กค่าใช้จ่ายแพงกว่าบริษัทใหญ่ แต่บริษัทใหญ่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าบริษัทที่ใหญ่กว่าอีก ก็อยากจะเลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ”

อีกไม่กี่วันก็จะถึงกำหนดเส้นตายที่บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย ต้องแก้ไขปัญหาฐานะการเงินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ หลังจากถูกคณะกรรมการกำกับและะส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีคำสั่งให้หยุดรับประกันไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาด้านฐานะการเงินและการดำเนินงาน จนไม่สามารถมีเงินกองทุนได้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องลุ้นกันต่อไปว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูล “เลาหพงศ์ชนะ” จะสามารถเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่หรือขายบริษัทได้สำเร็จทันเวลาหรือไม่

ไม่เช่นนั้น หากทำไม่ทันตามเวลาที่ คปภ.กำหนด ก็คงต้องโดนดาบสองปิดฉากบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย ออกจากอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยได้เลย

ปัจจุบันบริษัทประกันวินาศภัยไทยมีอยู่ทั้งหมด 62 แห่ง ถือว่ามีจำนวนที่มากเกินไป เมื่อเทียบกับมูลค่าเบี้ยประกันภัยในแต่ละปีที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาทและในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงด้วยการตัดราคาอย่างทุกวันนี้ รวมถึงมาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะนำมาใช้ในอนาคต และการให้บริษัทประกันต้องเพิ่มทุนอีกจาก คปภ.ก็ยิ่งทำบริษัทไหนที่มีทุนไม่หนาพอ อาจประสบปัญหาฐานะการเงินก็ได้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก หากจะยังอยากอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไป

กี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการควบรวมกิจการของธุรกิจประกันวินาศภัยเกิดขึ้น 4 แห่งคือ 1.กลุ่มบริษัท อาคเนย์ เข้าซื้อกิจการบริษัท ไทยประกันภัย 2.บริษัท คิง ไว กรุ๊ป (ประเทศไทย) เข้าซื้อกิจการบริษัท คิวบีอีประกันภัย (ประเทศไทย)

3.บริษัท เอ็ทน่า อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าซื้อกิจการบริษัท บูพา ประเทศไทย จากบูพา กรุ๊ป  และ 4.บริษัท ฟีนิกซ์ประกันภัย (ประเทศไทย) ได้กลุ่มบริษัท เจมาร์ท มาร่วมทุนด้วยและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท เจพี ประกันภัย เท่าที่ทราบขณะนี้ยังมีบริษัทประกันภัยอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการเจรจาเป็นพันธมิตรร่วมกัน เพื่อความอยู่รอด

อานนท์ วังวสุ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย กล่าวว่า การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจประกันทำให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเสียเปรียบบริษัทใหญ่ เนื่องจากมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงกว่า ในอนาคตจะเสียเปรียบในการแข่งขันแน่ ดังนั้น จึงมีหลายบริษัทต้องหาทางไปรวมกับบริษัทใหญ่ 

“ส่วนบริษัทใหญ่ก็อยากจะโตเร็ว ก็ต้องหาทางรวมกัน บริษัทเล็กค่าใช้จ่ายแพงกว่าบริษัทใหญ่ แต่บริษัทใหญ่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าบริษัทที่ใหญ่กว่าอีก ก็อยากจะเลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ” อานนท์ กล่าว

โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กจะอยู่ยากสุด เพราะค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทุกวัน ยิ่งปัจจุบันก็เจอคู่แข่งพวกสตาร์ทอัพที่พยายามจะมาทำออนไลน์อีก เจอคู่แข่งทุกระดับ หรือพวกโบรกเกอร์ที่เข้ามาเป็นทำออนไลน์ สตาร์ทอัพพวกนี้อีก

อย่างไรก็ตาม สมาคมประกันวินาศภัยเองก็พยายามแสดงให้เห็นถึงตัวเลขและข้อมูลต่างๆ ตอนหลังจะมีข้อมูลค่าใช้จ่ายของบริษัทแต่ละขนาดออกมาเพื่อให้สมาชิกได้เห็น เนื่องจากบางครั้งแต่ละบริษัทเองก็ดูภาพตัวเองไม่ชัด ต้องมีการเปรียบเทียบให้เห็น

อย่างเช่น ตัวเราบอกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 20% ถูกแล้ว ปรากฏมีคนอื่นถูกกว่า หรือเราทำได้ 30% นึกว่าแพงแล้วแต่ยังมีบริษัทอื่นแพงกว่า การเปรียบเทียบสมาคมฯ ปัจจุบัน จึงพยายามจะเปรียบเทียบให้เห็น

ขณะนี้บริษัทประกันมี 3 กลุ่ม ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ บริษัทเล็กมีเบี้ยระดับ 1,000 ล้านบาทลงมา ต้นทุนเลย 40% แพงมาก ถ้าอยู่ได้ควรจะประมาณ 18-20% บริษัทกลางมีเบี้ยระดับ 1,000-5,000 ล้านบาท ก็ยังอยู่ยาก มีแต่บริษัทใหญ่ที่ต้นทุนต่ำกว่า 20%

อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทไหนไม่อยากไปรวมกับบริษัทใหญ่ ก็ต้องมีวิธีทำธุรกิจที่ประหยัดต้นทุน เช่น ขายออนไลน์ แต่ก็ลำบากเพราะการลงทุนเบื้องต้นสูง ซึ่งก็ต้องวางแผนให้ดี

ชัย โสภณพนิช ที่ปรึกษาด้านกิจการต่างประเทศ บริษัท กรุงเทพประกันภัย และประธานกรรมการมูลนิธิกรุงเทพประกันภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้เท่าที่ทราบในเบื้องต้นบริษัทยังไม่มีนโยบายที่จะซื้อกิจการหรือควบรวมกับบริษัทประกันรายใด

“เรื่องการซื้อกิจการนั้น ทางเราก็ไม่ปิดโอกาสหากมีบริษัทรายใดเสนอตัวมา เราก็พร้อมจะพิจารณาอยู่แล้ว ถ้ามีงานรับประกันภัยที่กรุงเทพประกันภัยไม่ค่อยมีหรือมีน้อยอยู่ และต้องมีพนักงานคุณภาพด้วย เช่น กรุงเทพประกันภัยยังขาดงานของส่วนราชการและงานของรัฐวิสาหกิจอยู่ เราก็ต้องการในส่วนนี้มาเสริม และต้องเป็นช่องทางที่เรายังไม่สามารถเข้าถึงได้มากนัก” ชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นบริษัทประกันภัยที่มีงานคล้ายกับกรุงเทพประกันภัยมีอยู่แล้ว หรือได้งานมาจากบริษัทนายหน้าหรือตัวแทน ทางกรุงเทพประกันภัยก็ไม่สนใจ เพราะสามารถไปเจรจากับบริษัทนายหน้าให้ส่งงานมาที่กรุงเทพประกันภัยได้