posttoday

เจ้าพระยาฯเติมเงิน100ล้าน เดินหน้าแก้ไขปัญหาฐานะการเงิน

16 พฤษภาคม 2561

เจ้าพระยาประกันภัยส่งสัญญาณบวก ใส่เงินเพิ่มทุนอีก 100 ล้าน เร่งเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ ก่อนกำหนดเส้นตายสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

เจ้าพระยาประกันภัยส่งสัญญาณบวก ใส่เงินเพิ่มทุนอีก 100 ล้าน เร่งเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ ก่อนกำหนดเส้นตายสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง คปภ.เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีในการแก้ไขปัญหาของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย หลังจาก คปภ.สั่งให้หยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อมูลล่าสุด คปภ. เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย มีทุนจดทะเบียนอยู่ 1,200 ล้านบาท และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอยู่ที่ 1,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดือน ต.ค. 2560 ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอยู่ที่ 930 ล้านบาท

นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ คปภ. กล่าวว่า นอกจากเรื่องการใส่เงินเพิ่มทุนก้อนใหม่ของบริษัทแล้ว ทางบริษัทยังได้แจ้งว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่อยู่ ทั้งจากบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศเอง และนักลงทุนประเภทอื่นทั้งจากในประเทศและต่างประเทศด้วย

"ส่วนเรื่องของรายละเอียดนั้น ทางบริษัทขอให้เป็นความลับก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องรายงานให้ คปภ.รับทราบและต้องแก้ไขปัญหาให้เสร็จก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณที่ผู้สอบบัญชีต้องรับรองความถูกต้อง การมีเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไม่ต่ำกว่า 100% และการปรับปรุงระบบภายในที่ดีเยี่ยม ส่วนเรื่องการจ่ายเคลมสินไหมหลังมีคำสั่งให้หยุดรับประกันนั้น ก็ยังเป็นปกติและได้จ่ายไปแล้วประมาณ 10 ล้านบาท" นายชูฉัตร กล่าว

อย่างไรก็ตาม หนี้สินของบริษัทนั้นถือว่าไม่มากมีประมาณ 300-400 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับเบี้ยที่ได้ปีละ 1,200 ล้านบาท ส่วนเรื่องงบประมาณบริษัทนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร คาดว่าหากมีการใส่เงินลงมาใหม่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ก็คงสามารถแก้ไขปัญหาบริษัทที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้

นายอานนท์ วังวสุ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย กล่าวว่า บริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็กยังมีความเสียเปรียบในเรื่องของต้นทุนการแข่งขันที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทประกันวินาศภัยขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็กจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 40% ซึ่งถือว่าสูงมาก ขณะที่สถานการณ์ที่แข่งขันได้ควรมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 20%

อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็กจะแข่งขันได้ก็ต้องลดต้นทุนลงให้ได้มากที่สุด รวมถึงการหาตลาดเฉพาะกลุ่มของตัวเอง เช่น การขายหรือการเก็บค่าเบี้ยผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการเคลมสินไหมผ่านออนไลน์ ในส่วนที่เกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ที่มีคู่กรณีหรือเคลมแห้ง เพราะมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของการเคลมรถยนต์ปกติ ขณะที่บริษัทประกันวินาศภัยขนาดใหญ่ หากต้องการเติบโตที่รวดเร็วก็ต้องหาทางควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นที่มีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกับบริษัทตัวเอง