posttoday

คปภ.ยันประกันไทยยังแกร่ง

29 มีนาคม 2561

คปภ.ยันธุรกิจประกันภัยไทยยังแกร่ง ภาพรวมไม่มีปัญหา ปิดบริษัท เจ้าพระยาฯ ไม่กระทบอุตสาหกรรม

คปภ.ยันธุรกิจประกันภัยไทยยังแกร่ง ภาพรวมไม่มีปัญหา ปิดบริษัท เจ้าพระยาฯ ไม่กระทบอุตสาหกรรม

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทประกันภัยรายใดที่มีปัญหาเรื่องฐานะการเงินเหมือนกับบริษัท เจ้าพระยาประกันภัย ที่ถูกคณะกรรมการ คปภ.สั่งบริษัทให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา

"อาจจะมีบ้างที่มีบางช่วงบางเวลามีบริษัทประกันมีอัตราเงินอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (คาร์) อยู่ระหว่าง 100-140% แต่เมื่อเรารู้ เราเห็นปัญหา ก็รีบสั่งการให้บริษัทเหล่านั้นแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพื่อทำให้คาร์กลับมาอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 140% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่กรณีของเจ้าพระยาประกันภัยนั้น ไม่ได้มีสาเหตุแค่เรื่องคาร์อย่างเดียว ยังมีปัญหาเรื่องการเงินอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก ซึ่ง คปภ.ก็ต้องรีบระงับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นไว้ก่อน โดยปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยมีคาร์เฉลี่ยอยู่ที่ 230% ส่วนภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตมีคาร์เฉลี่ยอยู่ที่ 300%" นายสุทธิพล กล่าว

ทั้งนี้ ยืนยันว่าปัญหาของบริษัท เจ้าพระยาประกันภัยนั้น จะไม่ส่งผล กระทบต่อภาพรวมของธุรกิจประกันภัยทั้งระบบอย่างแน่นอน เพราะเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีส่วนแบ่งการตลาดที่น้อยมากแค่ 0.9% เท่านั้น และมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับใช้อยู่ไม่ถึง 3 แสนราย โดยในส่วนของลูกค้าเองก็ยังสามารถเคลมสินไหมได้ตามปกติ บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย ยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จ่ายสินไหมได้ เพียงแต่ตอนนี้ขายกรมธรรม์ใหม่ไม่ได้เท่านั้นเอง ซึ่งก็ต้องรอดูว่าเมื่อถึงวันที่ 29 มิ.ย.นี้ บริษัทจะสามารถแก้ไขปัญหาตามที่ คปภ.กำหนดไว้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากธุรกิจประกันภัยมีการนำเทคโนโลยีด้านการตรวจสอบมาใช้งานมากขึ้น ก็จะทำให้มีการเตือนปัญหาและแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีตัวใหม่ อย่าง Regulatory Technology หรือ "RegTech" ที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี RegTech for Supervisors หรือ SupTech ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยหน่วยงานกำกับในการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์โดยอาศัยระบบอัตโนมัติ หรือ AI หรือการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประสานงานกับภาคธุรกิจ เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวในการใช้มาตรการกำกับดูแล