posttoday

ประกันคนจนคึก4ล้านฉบับ

03 มีนาคม 2561

ไมโครอินชัวรันส์บูม คุ้มครองความเสี่ยงภัยให้ผู้มีรายได้น้อย ยอดขายกว่า 4 ล้านฉบับ เบี้ยสะพัดกว่า 2,000 ล้าน

ไมโครอินชัวรันส์บูม คุ้มครองความเสี่ยงภัยให้ผู้มีรายได้น้อย ยอดขายกว่า 4 ล้านฉบับ เบี้ยสะพัดกว่า 2,000 ล้าน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยในปี 2560 การรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยที่มีผลบังคับทั้งสิ้น 4.07 ล้านฉบับ คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,189.87 ล้านบาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปทั้งสิ้น 1,789.33 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ยประกันภัยรับรวม หรือ Loss Ratio เท่ากับ 81.71%

ทั้งนี้ หากพิจารณาในแต่ละประเภทของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยจะสามารถแบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัย 200 จำนวน 6.55 หมื่นฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 13.10 ล้านบาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 6.15 ล้านบาท กรมธรรม์ประกันภัย 100 จำนวน 63,069 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 6.30 ล้านบาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 2.94 ล้านบาท กรมธรรม์ประกันภัย 222 จำนวน 14,006 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 3.10 ล้านบาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 229.22 ล้านบาท

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยอื่นๆ ของบริษัทประกันชีวิต จำนวน 35,423 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 40.91 ล้านบาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 26.65 ล้านบาท กรมธรรม์ประกันภัยราย ย่อยอื่นๆ ของบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 453,535 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 138.07 ล้านบาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 66.56 ล้านบาท และประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 3,447,594 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 1,988.36 บาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 1,686.79 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากสถิติการรับประกันภัยสำหรับรายย่อยใน 3 ปีหลังสุดตั้งแต่ปี 2557-2560 จะเห็นได้ว่าจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.52%

นายสุทธิพล กล่าวว่า ในปี 2561 สำนักงาน คปภ.ยังคงมีแผนที่จะต่อยอด ความสำเร็จของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย ผ่านทั้งการพัฒนาตลาดด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อยเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองที่ตรงความต้องการด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยแต่ละราย

ขณะเดียวกันจะมีการขับเคลื่อนองค์กรสู่ประชาชนผ่านโครงการ คปภ.เพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ ของประเทศมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงมีการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและ ผู้ด้อยโอกาสที่มีความเหมาะสมกับชุมชนต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ เป้าหมายต้องการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) อาทิ กรมธรรม์ประกันภัย 200 กรมธรรม์ประกันภัยประกันภัย 100 และกรมธรรม์ประกันภัย 222 รวมถึงผลักดันให้บริษัทประกันพัฒนาและขายกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยเพื่อความหลากหลายและประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน