posttoday

อินชัวร์เทคหน้าใหม่แจ้งเกิด!

06 กุมภาพันธ์ 2561

การแข่งขันเทคโนโลยีประกันภัย หรือ Insurtech Ignite Hackathon จบลงแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ด้านการจุดประกายให้คนไทยหันมาพัฒนาอินชัวร์เทคเพิ่มขึ้น

โดย...วารุณี อินวันนา

การแข่งขันเทคโนโลยีประกันภัย หรือ Insurtech Ignite Hackathon จบลงแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ด้านการจุดประกายให้คนไทยหันมาพัฒนาอินชัวร์เทคเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) จัดการแข่งขัน เทคโนโลยีประกันภัย หรือ Insurtech Ignite Hackathon มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 32 ทีม และผ่านเข้ารอบ 12 ทีม เพื่อแสดงแนวคิดและ รูปแบบการนำเทคโนโลยี เข้ามาแก้ปัญหาให้กับธุรกิจประกันภัย และคัดเลือก ผู้ชนะเลิศ 1 ทีม คือ คือ ทีม อิน-เทค เอ็นจิเนียริ่ง (In-Tech Engineering) ได้รับรางวัล 5 หมื่นบาท และทีมรองชนะเลิศ 2 ทีม คือ ทีมชามเบิล (Sharmble) และทีมดาววี่ (DAWI) ได้รับรางวัล ทีมละ 2.5 หมื่นบาท รวมเป็นเงินรางวัล ทั้งสิ้น 1 แสนบาท

สำหรับ ทีม In-Tech Engineering มาในแนวคิด นำเทคโนโลยีมาจัดการความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ และทีม Sharmble มาในแนวคิด การเป็นแอดมินด้านการลดขั้นตอนการ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการเข้ารับการรักษาพยาบาล และทีมดาววี่ มาในแนวคิด การบริหารความเสี่ยงภัยจากการเดินทาง ให้ลูกค้าเห็นความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า การจัดงานอินชัวร์เทค อิกไนท์ แฮคกะทอน แข่งขันเทคโนโลยีประกันภัย ถือว่าประสบความสำเร็จในมุมของการดึงคนนอกวงการจำนวนมากเข้ามาร่วมพัฒนารูปแบบการนำเทคโนโลยีแก้ปัญหาให้กับธุรกิจประกันภัย ทั้งด้านการปรับปรุงสินค้าและบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของ ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องการบริการที่ทันสมัยและสะดวกรวดเร็ว

นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยที่เป็นสมาชิกของสมาคม 22 บริษัท ได้เข้าร่วมชมการแสดงรูปแบบอินชัวร์เทคตัวอย่างที่กลุ่มผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบ 12 ทีมนำมาแสดง ซึ่งสะท้อนภาพว่าบริษัทประกันภัยให้ความสนใจเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน

ดังนั้น จะมีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาให้สามารถนำไปต่อยอดให้ใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเป็นประโยชน์กับวงการประกันภัยต่อไป

พีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี ประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและวิชาการประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันอยู่นอกวงการ ซึ่งมีหลากหลาย ทั้งคนรุ่นใหม่ และรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ มีแนวคิดที่แตกต่างและแปลกใหม่จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งน่าสนใจในการดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมพัฒนานวัตกรรมให้กับวงการประกันภัยในอนาคต

ทั้งนี้ เป็นหนึ่งในเวทีที่จะสร้าง บุคลากรใหม่ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมประกันภัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจเทคโนโลยี ซึ่งต่อไปจะตั้งทีมงานเฉพาะขึ้นมาเพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรม มีการทบทวนเพื่อดูว่าจะทำโครงการดังกล่าวต่อไปในรูปแบบใด หลังจากได้ผู้ชนะแล้ว ทางสมาคมจะมีการตั้งคณะทำงานที่มีความความรู้และความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจประกันภัยและเทคโนโลยี เพื่อช่วยบ่มเพาะทีมเหล่านี้ให้สามารถพัฒนาโปรเจกต์ดังกล่าวให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

"ที่ผ่านมาเราพยายามพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้าสู่วงการประกันภัยแต่ทำได้ช้า ซึ่งเวทีนี้จะเป็นการดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจและขับเคลื่อนธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น" พีระพัฒน์ กล่าว

กิตตินันท์ อนุพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก ผู้สร้างแอพพลิเคชั่นเคลมดิ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า เป็นการจุดประกายให้คนหันมาทำอินชัวร์เทคเพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมา 2 ปีจะมีแต่การรณรงค์ให้คนทำฟินเทค และมีคนทำฟินเทคเยอะ ซึ่งการที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยหันมาทำแฮคกะทอน และดึงคนมาร่วมได้ถึง 32 ทีม และผ่านเข้ารอบได้ 12 ทีม แสดงให้เห็นว่ายังมีคนที่สนใจทำอินชัวร์เทคอยู่ในตลาด และคิดว่าสามารถแก้ปัญหาให้กับธุรกิจประกันภัยได้ จึงคิดว่าควรจะมีเวทีการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีประกันภัยต่อไป