posttoday

6 ผลกระทบบัญชีใหม่

03 มกราคม 2561

บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย จะต้องจัดทำรายงานทางการเงินมาตรฐานใหม่ ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีแห่งประเทศไทย (FAP) ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดย...วารุณี อินวันนา

บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย จะต้องจัดทำรายงานทางการเงินมาตรฐานใหม่ ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีแห่งประเทศไทย (FAP) ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ชยาธร ฉันท์เรืองวณิชย์ ผู้จัดการ ฝ่ายบริการความเชื่อมั่นทางการเงิน บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส (PwC) ระบุว่า มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่จะกระทบต่อบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย คือ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (IFRS 9) ในปี 2562 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (IFRS 17) เรื่อง สัญญาประกันภัย ในปี 2565

ทั้งนี้ ความแตกต่างในปีที่มีผลบังคับใช้ของทั้งสองมาตรฐาน จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะมีความเชื่อมโยงกันในการกำหนดรูปแบบทางธุรกิจ เพื่อการแบ่งประเภทและการวัดมูลค่าตาม IFRS 9 และการจัดกลุ่มสัญญาประกันภัยตาม IFRS 17 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการบัญชี รวมทั้งข้อปฏิบัติสำหรับเงินลงทุนสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มยูนิตลิงค์ และกลุ่มที่มีลักษณะรับผลประโยชน์ตามดุลพินิจ

"การที่ไม่พิจารณามาตรฐานบัญชี 2 ฉบับนี้ควบคู่กันไป อาจทำให้เกิดผลเสียหายในแง่การเลือกนโยบายบัญชีที่ไม่เหมาะสม และการปรับแก้ระบบปฏิบัติการเพื่อรองรับ การปฏิบัติตาม IFRS 9 และ IFRS 17 ไปพร้อมๆ กัน" ชยาธร ระบุ

ปัจจุบันทั้งสองธุรกิจจัดทำรายงานทางการเงิน ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 105 (TAS 105) การจัดประเภทและการวัดมูลค่า จะกำหนดตามนโยบายบัญชีของบริษัท แต่ TFRS 9 จะยึดรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การทดสอบเงินต้นและดอกเบี้ยตามจำนวนคงค้าง สิทธิในการวัดมูลค่ายุติธรรม

รวมถึง การด้อยค่า TAS 105 จะวัดจากผลขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ TFRS 9 จะวัดจากผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น การจัดประเภทของระดับการด้อยค่า และรายได้ดอกเบี้ย TAS 105 จะวัดตามอัตราดอกเบี้ยในสัญญา แต่ TFRS 9 จะวัดตามอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และรับรู้บนมูลค่าสุทธิเมื่อมีการด้อยค่าในระดับ 3

ในส่วนของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 หรือ IFRS 9 แม้จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2562 หรือ ในอีก 1 ปีข้างหน้า แต่จำเป็นจะต้องเริ่มเตรียมและจัดเก็บข้อมูลทางการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง

เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน ในส่วนของกำไรขาดทุนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดราคา การเติบโตของรายได้ ผลิตภัณฑ์และปริมาณ สภาพคล่อง และภาพลักษณ์ ซึ่งจะมีผลต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้นด้วย

แหล่งข่าวจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ทาง PwC ได้แนะนำว่า การจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 ควรให้ความสำคัญ  4 ด้าน ประกอบด้วย

1.การจัดประเภทและการวัดมูลค่าที่ต้องทำการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน การสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การวิเคราะห์การแยกอนุพันธ์แฝง การแนะแนวนโยบายแผนการอบรมต่อเนื่อง

2.วิธีการคำนวณผลการด้อยค่า อาทิ ต้องจัดทำเครื่องมือในการคำนวณผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม

3.การบัญชีป้องกันความเสี่ยง ต้องจัดทำกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยง ในมูลค่ายุติธรรม การป้องกันความเสี่ยงในกระแสเงินสด หากทำได้ ไม่ดี จะถูกรับรู้ในงบกำไรขาดทุน

4.การเปิดเผยข้อมูล ขณะที่ สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า หากบริษัทสามารถสร้างรายได้จากการขายประกันภัยเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการเตรียมตัวด้านมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ดีพอ อาจทำให้กำไรมีสัดส่วน ลดลงและอาจส่งผลกระทบต่อการ จัดทำรายงานแสดงฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานอีกด้วย