posttoday

เรียกค่าสินไหม...แค่ไหนพอ

02 มกราคม 2561

การเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ประกันภัยรถยนต์ ถึงจะมีมานาน แต่ก็ยังเป็น Pain Point หรือประสบการณ์ที่สร้างความเจ็บใจให้กับลูกค้ามายาวนานถึงปัจจุบัน

โดย...วารุณี อินวันนา

การเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ประกันภัยรถยนต์ ถึงจะมีมานาน แต่ก็ยังเป็น Pain Point หรือประสบการณ์ที่สร้างความเจ็บใจให้กับลูกค้ามายาวนานถึงปัจจุบัน และเป็นจุดอ่อนที่บริษัทประกันภัยพยายามที่จะแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ยิ่งในช่วงวันหยุดยาวอย่างเทศกาลปีใหม่ 2561 นี้ มีการเดินทางไกล ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์จำนวนมาก เสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน

จึงควรจะทราบไว้ว่า หากเกิดเหตุแล้วจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายแค่ไหนจึงจะพอ

ฐิตินันท์ เต็งอำนวย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหลักสูตร "ผู้วางแผนการเกษียณ" ที่บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) ร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ความเจ็บปวดใจนี้หลีกเลี่ยงได้หากรู้จักกฎหมาย

เรียกได้แค่ไหน

ในกรณีขับรถชน รถบุบ สามารถเรียกค่าซ่อมแซมรถได้ ตามควรแก่พฤติกรรมและความร้ายแรงแห่งละเมิด เพื่อเยียวยาให้เข้าสู่ฐานะเดิมก่อนทำละเมิดจะเรียกค่าสินไหมทดแทนแบบค้ากำไรไม่ได้ เช่น รถบุบ ค่าซ่อมแค่ 1 หมื่นบาท แต่เรียก 1 แสนบาทไม่ได้ เพราะจะเรียกได้เท่ากับความร้ายแรงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นจะมาค้ากำไรจากอุบัติเหตุไม่ได้นะ จำไว้

ทำอย่างไรเพื่อเยียวยาให้กลับคืนสู่สถานะเดิม

ต้องเรียกร้องความเสียหายจากผู้ทำให้เกิดความเสียหาย เรียกว่าค่าสินไหมทดแทน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การจ่ายเงินเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการคืนทรัพย์สิน หรือหาทรัพย์สินชิ้นใหม่มาชดเชย มาแทนละเมิดเกิดขึ้นจะมี 5 องค์ประกอบ เมื่อพิสูจน์ครบเงื่อนไข จึงไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

ศาลจะทำการพิสูจน์ว่า นาย ก. ละเมิด นาย ข. จริง  จะบอกว่าให้ไปตกลงค่าสินไหมทดแทนกันเองก่อน จะตกลงเท่าไหร่ก็ได้ ยกเว้นตกลงกันไม่ได้ก็ไปฟ้องศาล ศาลจะกำหนดให้ตามความจริง

ยกตัวอย่าง ในกรณีความเสียหาย 1 แสนบาท และมูลค่าความเสียหายถึง 1 แสนบาท แต่ผู้เสียหายบอกเหนื่อยแล้ว ไม่อยากรอศาลตัดสิน เพราะต้องใช้เวลานาน เนื่องจากศาลมีเรื่องเยอะมากเข้ามา อยากตัดสินใจรับเงินกันวันนี้เลย ก็เรียกไปแค่ 8 หมื่นบาท แต่ต้องจ่ายวันนี้นะ ถ้าไม่จ่ายวันนี้จะไปฟ้องศาลและเรียกความเสียหายเต็มมูลค่าที่ 1 แสนบาท

กรณีถึงแก่ความตาย

ญาติของผู้ตายเรียกอะไรได้บ้าง1.ค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจัดการงานศพตามประเพณี ถ้านับถือศาสนาคริสต์ก็ทำพิธีคริสต์ ถ้าเป็นชาวมุสลิมก็ทำตามพิธีศาสนาอิสลาม ถ้าเป็นพุทธก็ทำพิธีพุทธ แต่ต้องเป็นไปตามสมควรและตามความเป็นจริงเท่านั้น

2.ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่ ถูกรถชนแล้วยังไม่เสียชีวิตทันที แต่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นเสียชีวิต ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ก็สามารถเรียกค่ารักษาพยาบาลช่วงเวลาก่อนตายได้

3.ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ หรือค่าชดเชยรายได้ เช่น ช่วงโคม่าในโรงพยาบาล2 สัปดาห์ ก็ดูว่าก่อรายได้ได้เท่าไหร่ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ต้องพิสูจน์ให้ได้

4.ค่าขาดไร้อุปการะ กรณีลูกยังเป็นเด็ก บิดา มารดา ถูกรถชนตาย เช่นเดียวกันกับสามีเลี้ยงดูภรรยา สามีเสียชีวิต ก็เรียกค่าขาดอุปการะได้ด้วย แต่ถ้าลูกบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ รวมถึงกรณีบิดา มารดา เป็นผู้ชรา มีลูกเป็นผู้อุปการะ หากลูกคนนั้นเสียชีวิต เรียกค่าขาดไร้อุปการะได้

กรณีทำละเมิดต่อร่างกายและอนามัย

สามารถเรียกค่าใช้จ่ายอะไรก็ได้ที่ต้องเสียไป เนื่องจากความเสียหายอันเกิดแก่ตน

ยกตัวอย่าง นาย ก. ขับรถชนนาย ข. ขาหัก สามารถเรียกค่ารักษาพยาบาล เรียกค่าไม้พยุงตัว ค่าล้างแผล อีกอย่างที่เรียกได้ เช่น กรณีนาย ก. ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปทำงาน หรือขับรถเองไปทำงาน พอขาเดี้ยงต้องนั่งแท็กซี่ ต้องมีค่าแท็กซี่ก็เรียกได้ด้วย

รวมถึงเรียกค่าเสียหายที่เสียความสามารถในการประกอบการงานได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ยกตัวอย่างพนักงานพิมพ์ดีดพอเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มือทำงานไม่ได้ ขาดไร้รายได้เท่าไหร่ เรียกได้ไปจนถึงวันที่คาดการณ์ว่ามือจะหาย ไม่ต้องรอว่ามือหายแล้วค่อยมาฟ้อง ไปหาหลักฐานว่ามือจะหายได้เมื่อไหร่ก็นำไปฟ้องเรียกล่วงหน้าได้เลย