posttoday

สมาคมวินาศภัยวอนรัฐให้เบี้ยสุขภาพลดภาษี

06 ธันวาคม 2560

สมาคมประกันวินาศภัย วอนกรมสรรพากรคลอดเกณฑ์ลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพ 1.5 หมื่นโดยเร็ว

สมาคมประกันวินาศภัย วอนกรมสรรพากรคลอดเกณฑ์ลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพ 1.5 หมื่นโดยเร็ว

นายปิติพงศ์ พิศาลบุตร ประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า อยากขอให้กรมสรรพากรออกเกณฑ์และรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับแบบประกันสุขภาพที่สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนสามารถทราบได้ว่าแบบประกันสุขภาพแบบไหนที่จะลดหย่อนภาษีได้บ้าง

"ตอนนี้เกณฑ์สรรพากรยังไม่ได้ออกเลยว่าเท่าไร ยังไง นั่นคือสิ่งที่ธุรกิจประกันรออยู่ คือออกเกณฑ์มาควรจะเร็วหน่อย อย่างน้อยจะได้มีเวลา เพราะสินค้าประกันมีเยอะ อย่างน้อยจะได้มาดูกันใหม่ว่าแบบไหนที่เข้าเกณฑ์หรือไม่เข้า ซึ่งตอนนี้ก็ได้แต่คาดเดากันเอง ซึ่งก็ต้องไปคำนวณดูว่าแบบไหนอยู่ในเกณฑ์ อันไหนคุ้มครองพีเอ อันไหนคุ้มครองค่ารักษา แยกเบี้ยกันเท่าไรอีก" นายปิติพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากที่รัฐบาลให้นำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ก็คาดว่าในปีหน้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เบี้ยประกันสุขภาพเติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้ สมาคมมองว่าเป็นโอกาสดีที่รัฐส่งเสริมประกันสุขภาพ เพราะนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ แม้ส่วนหนึ่งจำนวนเงินอาจยังไม่มากนัก แต่ก็เป็นก้าวแรกที่ทำให้ประชาชนหันมาซื้อประกันสุขภาพ หันมาดูแลตัวเอง โดยไม่ต้องเป็นภาระของรัฐในอนาคต แต่ส่วนหนึ่งรัฐต้องรับในเรื่องลดหย่อนภาษี ซึ่งประกันสุขภาพเป็นสินค้าที่น่าซื้อ ดีกว่าซื้ออย่างอื่นแล้วมีปัญหาสุขภาพและเป็นภาระประชาชนในอนาคต

นอกจากนี้ สมาคมยังอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลการทำประกันภัยในโครงการประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคลสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อการพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) ซึ่งมีผลบังคับเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ที่ทำประกันน้อยมาก

"ตอนนี้เรากำลังเก็บข้อมูลอยู่ว่าอีก 6 เดือนมีมากี่กรมธรรม์ ต้องมาวิเคราะห์ดูว่าเป็นเพราะอะไร เนื่องจากมีชาวต่างชาติมาอยู่ในไทยแบบลองสเตย์เยอะมาก ซึ่งปัจจุบันเขาอยู่แบบวีซ่าปีต่อปี ซึ่งรัฐบาลก็พยายามสนับสนุนให้เขามีวีซ่า 5 ปี แต่ต้องมีเงื่อนไขบังคับ รวมทั้งประกันภัยสุขภาพด้วย แต่แบบวีซ่าปีต่อปียังไม่ได้มีการบังคับอะไร ซึ่งพยายามแยกข้อมูลแบบวีซ่าปีต่อปี กับวีซ่า 5 ปีอยู่ว่ามีอย่างละเท่าไหร่" นายปิติพงศ์ กล่าว

นายปิติพงศ์ กล่าวว่า สมาคมยังพยายามผลักดันในเรื่องของ การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) และประกันสุขภาพนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลเองก็เข้าใจถึงปัญหาว่าปัจจุบันไทยมีนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน ส่วนหนึ่งมีประกันภัย ส่วนหนึ่งไม่มี หรือมีแล้วเกิดเหตุขึ้นมา เจ็บป่วยมาก็มีค่ารักษาพยาบาล ค่ารักษาต่างๆ แต่เรื่องนี้รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจทำ แต่สมาคมก็พยายามผลักดันให้เป็นกิจจะลักษณะ โดยเสนอค่าเบี้ยไป 180 ล้านบาท เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยหรือรักษาพยาบาลฉุกเฉิน.