posttoday

'อลิอันซ์' ใช้นวัตกรรม ตรวจจับเคลมรถไม่ปกติ

17 พฤศจิกายน 2560

ตลาดประกันภัยในประเทศไทย มีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรถยนต์มากกว่า 50% ของเบี้ยรับรวมในแต่ละปี

โดย...วารุณี อินวันนา

ตลาดประกันภัยในประเทศไทย มีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรถยนต์มากกว่า 50% ของเบี้ยรับรวมในแต่ละปี โดยเฉพาะประกันภัยภาคสมัครใจที่ให้ความคุ้มครองการซ่อมรถยนต์ เป็นต้นทุนที่มีสัดส่วนที่สูงตามไปด้วย

ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เคยประมาณการไว้ว่า การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่มีพฤติกรรมไม่สุจริตที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลทั้งระบบในแต่ละปีมีประมาณ 10% หรือเป็นเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดย 60% เกิดจากการทุจริตเคลมสินไหมประกันภัยรถยนต์ ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นนี้เมื่อเกิดขึ้น กลายเป็นต้นทุนของบริษัทประกันภัย และถูกนำไปบวกในราคาเบี้ยประกันภัย ส่งผลให้ผู้ที่มีพฤติกรรมขับขี่ดีต้องแบกรับต้นทุนของกลุ่มทุจริต

ขณะนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยอยู่ระหว่างการนำส่งข้อมูลประกันภัยรถยนต์เข้าสู่ฐานข้อมูลกลาง เพื่อจะได้จัดทำระบบการตรวจสอบเคลมที่ไม่ ปกติและลดการรั่วไหล

นอกจากนี้ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่ไม่สุจริต ยังเป็นปัญหาในเกือบทุกประเทศ ที่ทาง สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลเพื่อรับมือการฉ้อฉลประกันภัยในยุคดิจิทัล บนเวทีการ ประชุมประจำปีสมาคมผู้กำกับดูแล ธุรกิจประกันภัยนานาชาติ ครั้งที่ 24 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ล่าสุด กลุ่มอลิอันซ์ที่มีบริษัทในเครือที่ประเทศไทยคือ บริษัท อลิอันซ์ ประกันภัย เริ่มทดลองนวัตกรรม บิ๊กดาต้าในไทย ประเดิมด้วยระบบ ตรวจจับเคลมประกันภัยรถยนต์ไม่ปกติ เพื่อลดต้นทุนที่ไม่เป็นจริงจากการ ซ่อมเกินความจำเป็น นับเป็นบริษัทแรกที่มีการเปิดตัวนวัตกรรมดังกล่าวในประเทศไทย

เรย์มอนด์ อู หัวหน้าเอเชียแล็ป อลิอันซ์ เอเชียแปซิฟิก ได้แสดงถึงทิศทางการนำนวัตกรรมบิ๊กดาต้า มาใช้ในธุรกิจประกันภัย ให้กับนักข่าวทั่วเอเชียแปซิฟิก รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ที่สนใจจากธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมบิ๊กดาต้ามาใช้ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ เพราะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนหรือจำนวน มากที่สุดในอุตสาหกรรมประกันภัย และส่งผลกระทบต่อลูกค้าทุกคน เพราะ หากการรั่วไหลมีสูง จะทำให้ต้นทุนของบริษัทและลูกค้าสูงขึ้น

อู เปิดเผยว่า บริษัทได้พัฒนานวัตกรรมสมาร์ทแคทช์ (มอเตอร์) ระบบตรวจจับเคลมประกันภัยรถยนต์ที่ไม่ปกตินี้ ได้เริ่มทดลองใช้ในประเทศไทยแล้ว โดยมีข้อมูลในตลาดที่มากพอ สามารถประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสามารถตรวจจับรูปแบบการเรียกร้อง ค่าสินไหมผิดปกติจะช่วยลดการรั่วไหลได้ จะส่งผลดีต่อตัวลูกค้าและบริษัท เพื่อจะได้ให้บริการด้านราคาที่ยุติธรรมกับลูกค้าที่มีพฤติกรรมดี

จากเดิมที่ลูกค้าดีจะต้องแบกรับต้นทุนผู้ที่มีพฤติกรรมไม่ดี โดยยืนยันว่าระบบนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน แต่นำมาใช้เพื่อเก็บสถิติและทำการยืนยันความถูกต้องในการซ่อมกับอู่ซ่อมรถ จะได้นำไปพัฒนาธุรกิจต่อไป และทำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมการขับขี่ไม่ดีรับต้นทุนความเสี่ยงของตัวเอง ด้วยจะทำให้เกิดความเป็นธรรม

"เป็นหนึ่งในการนำระบบข้อมูลจำนวนมหาศาล หรือบิ๊กดาต้า มาใช้ในการวิเคราะห์และเก็บสถิติด้านการ เคลม เพื่อให้เกิดความแม่นยำในอนาคต ในแต่ละประเทศเราจะมีการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ในไทยก็จะทำงานร่วมกับ คปภ. เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทได้ทำตามเกณฑ์กำกับอย่างถูกต้อง" อู กล่าว

อู กล่าวว่า ระบบข้อมูลและประสบ การณ์ของพนักงาน จะสามารถบอก รายละเอียดได้ว่าเมื่อมีการชนด้านหน้าเกิดขึ้น แรงกระแทกที่แตกต่างกันจะสร้างความเสียหายให้กับชิ้นส่วน ของรถยนต์ชิ้นไหนบ้าง ในระดับความ เสียหายอย่างไร

ยกตัวอย่าง ข้อมูลในอดีตมีการเคลมการชนด้านหน้ารถทั้งหมด 4 ราย มี 3 รายที่ได้รับความเสียหายคล้ายกัน แต่รายที่ 4 มีการเคลมบางชิ้นส่วน เพิ่มขึ้น ระบบจะแจ้งเตือนความผิดปกติ ทางพนักงานจะได้ทำการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงการเคลมชิ้นส่วนนั้น จะได้ทำการบันทึกเหตุผลเพื่อความถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังมีระบบการจัดเก็บจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ในแต่ละช่วงเวลา วัน ซึ่งใน 1 สัปดาห์ พื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุในกรุงเทพมหานครจะไม่ เหมือนกัน เพื่อนำมาบริหารการจัดวางกำลังคนในการเข้าไปให้บริการเมื่อ เกิดอุบัติเหตุได้อย่างเหมาะสม นอกจาก จะช่วยให้พนักงานสำรวจภัยเข้าถึง ลูกค้าได้ในเวลาอันรวดเร็วแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบคู่กรณี หากสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ก่อน จะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าของ คู่แข่งขันได้