posttoday

"เงินบำนาญ/ค่ารักษา" ชี้วัดคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ

15 พฤศจิกายน 2560

สิ่งที่ท้าทายในอนาคตสำหรับทุกคน คือ การเป็นผู้สูงอายุ ที่แนวโน้มอายุจะยืนยาวกว่าในอดีต

โดย...วารุณี อินวันนา

“สิ่งที่ท้าทายในอนาคตสำหรับทุกคน คือ การเป็นผู้สูงอายุ ที่แนวโน้มอายุจะยืนยาวกว่าในอดีต และวันหนึ่งต้องเจ็บป่วย ซึ่งเป็นสิ่งต้องเกิดขึ้นแน่นอน ในวันนั้นโลกของความเป็นจริงจะไม่ให้โอกาสคนที่ไม่ได้เตรียมตัว”สมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) กล่าว

สมโพชน์ กล่าวว่า ชีวิตหลังเกษียณการทำงานของทุกคนจำเป็นต้องมีเงิน 2 ก้อน คือ 1.ก้อนที่เป็นเงินบำนาญ ที่มีรายได้เป็นจำนวนเงินที่แน่นอนเข้ามาสม่ำเสมอ  เพื่อไว้ใช้จ่ายในการทำให้ชีวิตมีคุณภาพในระดับที่พอใจ

2.ก้อนที่เป็นเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเผชิญกับการเจ็บป่วย เนื่องจากสภาพร่างกายถูกผ่านการใช้งานมานาน เริ่มทรุดโทรม โดยคนส่วนใหญ่ประมาณ 80% เมื่ออายุถึงวัยเกษียณที่ 60 ปี จะมีโรคประจำตัว และมีโอกาสเจ็บป่วยสูง

เงินทั้ง 2 ก้อนนี้ จะเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ จึงจำเป็นที่จะต้องมีอย่างเพียงพอ ซึ่งในส่วนของเงินบำนาญนั้นสามารถประมาณการณ์ได้ชัดเจน แต่เงินค่ารักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่สามารถกำหนดได้ เพราะไม่ทราบว่าจะเจ็บป่วยหนัก หรือ เบา และถ้าไม่จำเป็นคงไม่อยากไปขอรับบริการสวัสดิการของภาครัฐ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับการดูแลที่ดีเพียงพอกับสิ่งที่คาดหวัง

“ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปจึงไม่สามารถคาดหวังความช่วยเหลือจากบุคคลในครอบครัวได้ 100% เพราะถึงวันนั้น ลูก หลาน เอง อาจจะช่วยตัวเองไม่ได้ และไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลได้ 100% จึงจำเป็นต้องเก็บออมเพิ่มอย่างจริงจัง”สมโพชน์ กล่าว

สมโพชน์ กล่าวว่า ขณะที่ ค่าใช้จ่ายซึ่งไม่เคยอยู่ในสาระบบ ได้เกิดขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยี เช่น ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ตบ้าน ค่าสมาชิกทีวี ซึ่งกลายเป็นรายจ่ายประจำในชีวิตและของครอบครัว เหมือนค่าน้ำ ค่าไฟ เฉลี่ยคนละ 1,000 บาท/เดือน ทำให้รายได้ลดลง และอินเตอร์เน็ตทำให้เกิดสิ่งยั่วยวนในการใช้จ่าย เช่นซื้อสินค้าออนไลน์

สังคมไทยจึงต้องมีสติ กับการบริหารค่าใช้จ่ายของตัวเองให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่าฟุ้งเฟ้อมากเกินไป ค่าใช้จ่ายในการกิน การเที่ยว ต้องอยู่ภายใต้ประมาณการณ์ที่เหมาะสม

วันนี้ คนทุกคนมีทางเลือกในชีวิต 2 ด้าน คือ 1.ไม่เก็บออม ใช้ชีวิตแบบสบายสบาย ด้วยการใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ เมื่อแก่ตัวไป จะลำบาก ก็ต้องรับกรรมเอง เพราะตัดสินใจเลือกที่จะสบายวันนี้แล้วไปลำบากวันหน้า

2. เริ่มเก็บออมเพิ่มขึ้น ลดความสะดวกสบายในชีวิตลงบ้าง เพื่อทำให้อนาคตมีคุณภาพชีวิตที่ดี   

คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย อยู่ในกลุ่มที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง  หากอยากให้ชีวิตมีคุณภาพที่ดียามเกษียณในระดับที่ตัวเองพอใจ ต้องเพิ่มการเก็บออม ลดความสะดวกสบายลงบ้าง

ขณะที่ กลุ่มคนที่เลือกได้ทั้ง 2 อย่าง คือ ไม่ออมเพิ่ม ใช้ชีวิตในวันนี้อย่างสะดวกสบาย และในวันข้างหน้าชีวิตก็ยังสบาย เป็นกลุ่มที่จัดว่ามีรายได้สูง ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นในสังคมไทย

สมโพชน์ กล่าวว่า การสร้างเงินบำนาญ ที่มีรายได้สม่ำเสมอ และมีการค้ำประกันจำนวนเงินที่จะได้รับแน่นอน จะมีเพียงการออมในรูปของการประกันชีวิตแบบบำนาญเท่านั้น

ขณะที่การออมผ่านเครื่องมือการลงทุนอื่นๆ เช่น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีการประกันความแน่นอนว่าหลังการเกษียณอายุแล้วจะได้รับเงินเดือนละเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะขาดทุน ทำให้เมื่อเกษียณแล้วได้เงินคืนน้อยกว่าที่เก็บไว้ และไม่เพียงพอกับการยังชีพ

ทั้ง 2 ส่วนนี้ จะต้องวางน้ำหนักให้ดี เมื่ออายุมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุด ต้องควบคุมไม่ให้ตัวเองมีความเสี่ยงมากจนเกินไป ทั้งเรื่องการลงทุน ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ความเสี่ยงจากการลงทุนทำธุรกิจที่ตัวเองไม่ถนัด และ เรื่องสุขภาพ เพราะหากผิดพลาดพลั้งไปไม่สามารถเรียกเงิน หรือสุขภาพ กลับคืนมาได้

สมโพชน์ กล่าวว่า จากการที่สังคมไทยออมเงินไม่เพียงพอ และคนส่วนใหญ่เข้าสู่วัยชราโดยที่เตรียมเงินไม่เพียงพอ ทำให้บริษัทได้ขายแนวคิดเรื่องการวางแผนบำนาญ และเป็นบริษัทแรกที่เน้นขายกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ให้ผลตอบแทนในรูปของบำนาญตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว

ต่อมาปี 2559 ได้ชูจุดขายเรื่องเมดิคัลฟันด์ การสะสมค่ารักษาพยาบาล ผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งจะมีการจ่ายผลประโยชน์ออกมาในรูปของเงินบำนาญ ทำให้มีเงินไว้ซื้อประกันสุขภาพหลังจากที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน โดยลูกค้าที่ซื้อประกันสุขภาพควบคู่ประกันสะสมทรัพย์ที่จ่ายผลตอบแทนในรูปของบำนาญ ที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท และ แบบประกันบำนาญที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 แสนบาท ก่อนอายุ 65 ปี จะได้รับการต่อสัญญาประกันสุขภาพไปจนถึงอายุ 80 ปี

ทั้งนี้ แบบประกันบำนาญ กับประกันสุขภาพ ที่จ่ายเบี้ยรายปี การจ่ายเบี้ยต่อครั้งจะเป็นเงินก้อนใหญ่ ซึ่งในปี 2560 ทางบริษัทได้ปรับรูปแบบการขายที่เก็บเบี้ยรายเดือน ตั้งแต่เดือนละ 7,500 บาท ถึงเดือนละ 1.5 แสนบาท เพื่อให้คนที่มีรายได้ปานกลาง หรือ พนักงานออฟฟิศ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ สามารถสร้างเงินออมเพื่อการเกษียณได้ ซึ่งปรากฎว่าตรงกับความต้องการของตลาด และตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรง เห็นได้จากยอดขายเบี้ยปีแรกในแต่ละเดือน จะมีเบี้ยประกันบำนาญที่จ่ายเบี้ยรายเดือนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากเดิมมีเพียง 5% เท่านั้น

ในเร็วๆ นี้  บริษัทกำลังจะออกผลิตภัณฑ์คุ้มครองสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตไม่สูงมาก เมื่อรวมความคุ้มครองสุขภาพเข้าไปเบี้ยจะไม่สูงมาก เพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความคุ้มครองสูขภาพให้ลูก หลาน ให้ตัวเอง และ ให้สมาชิกในครอบครัว แต่ยังไม่พร้อมที่จะจ่ายเบี้ยประกันสูงๆ สามารถเข้าถึงได้

สำหรับ บริการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันสุขภาพของบริษัท ลูกค้าไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้า เพราะทางบริษัทมีระบบการเคลมออนไลน์กับทางโรงพยาบาล เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวก

ในกรณี ที่ลูกค้ามีการเคลมสินไหมด้านสุขภาพบ่อย ที่เกิดจากการเจ็บป่วยจริง และจำเป็นต้องได้รับการรักษา ทางบริษัทก็จะให้บริการอย่างตรงไปตรงมา แต่อาจจะขึ้นเบี้ยประกันสุขภาพในปีถัดไป โดยที่ยังต่อสัญญาประกันสุขภาพไปจนถึงอายุ 80 ปี

ในกรณี ที่ลูกค้ามีการเข้าโรงพยาบาลบ่อย และพิสูจน์ได้ว่ามีพฤติกรรมที่เข้าโรงพยาบาลเกินความจำเป็น เช่น ป่วยนิดหน่อยก็เข้าโรงพยาบาล เป็นการรักษาเกินความจำเป็น และมีเจตนาทุจริต ทางบริษัทจะไม่ต่อสัญญาประกันสุขภาพในปีถัดไป