posttoday

คนไทย 69% ห่วงสุขภาพ ประกันแข่งชิงลูกค้าเดือด

10 พฤศจิกายน 2560

ผลสำรวจดัชนีความสัมพันธ์พรูเด็นเชียล ปี 2560 พบคนไทย 69% กังวลปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ อีก 34% เชื่อว่าสุขภาพจะแย่ลงในอีก 5 ปีข้างหน้า ตอกย้ำความต้องการประกันสุขภาพมีแนวโน้มโตสูง

โดย...วารุณี อินวันนา

ผลสำรวจดัชนีความสัมพันธ์พรูเด็นเชียล  ปี 2560 พบคนไทย 69% กังวลปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ อีก 34% เชื่อว่าสุขภาพจะแย่ลงในอีก 5 ปีข้างหน้า ตอกย้ำความต้องการประกันสุขภาพมีแนวโน้มโตสูง

ทั้งนี้ อามัน โชวลา ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) กล่าวว่า ได้ทำการสำรวจผ่านออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่าง 500 คน ที่มีอายุระหว่าง 25-55 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และมีรายได้อย่างน้อย 3 หมื่นบาท พบว่าคนไทย 69% กังวลปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ อีก 34% เชื่อว่าสุขภาพจะแย่ลงในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียรู้ตัวดีว่าจะต้องให้ความสำคัญในด้านสุขภาพ แต่มีถึง 61% ที่ไม่กระตือรือร้นในการรักษาสุขภาพ

นอกจากจะห่วงสุขภาพตัวเองแล้วยังมีความเป็นห่วงสุขภาพของคู่รัก โดย 54% ต้องการให้คู่ชีวิตมีสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้เห็นว่าสุขภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว

แม้ว่าคนไทยจะต้องการมีสุขภาพดี แต่ความกดดันด้านการเงินทำให้ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ โดย 80% เลือกที่จะมีชั่วโมงการทำงานนานขึ้นเพื่อที่จะหารายได้เพิ่ม แทนที่จะเลือกมีเวลาว่างมากขึ้นแต่ได้เงินน้อยลง

ผลสำรวจดัชนีความสัมพันธ์พรูเด็นเชียลประจำปี 2017 แสดงให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกและเข้าใจถึงความต้องการและข้อกังวลของกลุ่มลูกค้าในตลาด ถึงแม้ว่าสุขภาพจะเป็นปัจจัยหลัก แต่มากถึง 3 ใน 4 ของคนไทย (66%) ยังคงกังวลถึงเงินเก็บว่าจะพอใช้ในวัยเกษียณไหม โดย 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับการเก็บเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ ผลสำรวจที่ได้นี้ช่วยเสริมสร้างความมุ่งมั่นของบริษัทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการออม สุขภาพ เรื่อยไปจนถึงความคุ้มครองชีวิต

"มองว่าตลาดประกันสุขภาพในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตสูง เห็นได้จากผู้ที่มีประกันสุขภาพค่อนข้างน้อย เราจะมีการออกแบบกิจกรรมและความรู้เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น" โชวลา กล่าว

คนไทย 69% ห่วงสุขภาพ ประกันแข่งชิงลูกค้าเดือด

ทั้งนี้ ผลวิจัยข้างต้นยังสอดคล้องกับตัวเลขเบี้ยประกันสุขภาพในตลาดประเทศไทย ที่เติบโตอย่างมากในปีนี้ แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 9 เดือนแรก บริษัทประกันวินาศภัย มีเบี้ยประกันสุขภาพรวม 7,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2559 ที่มีจำนวน 5,970 ล้านบาท

ขณะที่เบี้ยประกันสุขภาพจากบริษัทประกันชีวิตซึ่งสถิติมีถึง 6 เดือนแรกของปี 2560 มีเบี้ยรับรวม 2.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.68% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2559

"เรากำลังติดตามการพัฒนาสินค้าด้านประกันสุขภาพมิติใหม่ เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) กับบริษัทประกันชีวิตเรียกว่า พรีรี-ไทร์ โดย บลจ.จะเป็นผู้ออกสินค้านี้ ในรูปของกองทุนรวม เงินจะถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนลงทุนและส่วนที่ซื้อประกันสุขภาพ เมื่อครบอายุ 60 ปี หรือชำระเบี้ยครบกำหนด ในส่วนของลงทุนจะจ่ายคืนผู้ซื้อในรูปของเงินบำนาญ ในขณะที่ส่วนของประกันสุขภาพ จะให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล รวมระยะเวลา 20 ปี คืออายุ 60-80 ปี หากครบอายุ 80 ปี ถ้าลูกค้าไม่เคลม จะได้รับเงินก้อน ซึ่งแบบประกันนี้อยู่ในโครงการแซนด์ บ็อกซ์ หรือนวัตกรรม" แหล่งข่าวจาก คปภ.เปิดเผย

จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ประกันสุขภาพจะยังเป็นดาวรุ่ง คือเป็นที่ต้องการของตลาดและมีแนวโน้มเติบโตแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น ทำให้คนหันมาซื้อประกันสุขภาพจะได้มีหลักประกันสำหรับดูแลตัวเองในยามเจ็บป่วย และการได้สิทธิลดหย่อนภาษี 1.5 หมื่นบาท จะกระตุ้นให้บริษัทประกันวินาศภัยคิดแบบ ประกันใหม่ๆ ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งจะทำให้ความคุ้มครองตรงกับความเสี่ยงมากขึ้น

นอกจากนี้ อาจจะเห็นการขายประกันสุขภาพควบกับประกันภัยอื่นๆ มากขึ้น เช่น หากมีประวัติขับขี่รถดีอาจจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการตลาดแนวใหม่ที่จูงใจใหม่

สำหรับข้อดีในการซื้อประกัน สุขภาพจากบริษัทประกันวินาศภัย คือ ใช้เงินน้อยกว่า เพราะเป็นสินค้าเดี่ยว ไม่ต้องซื้อพ่วงกับความคุ้มครองอื่น ส่วนบริการนั้นทุกบริษัทมีเครือข่าย โรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถให้บริการได้ทันท่วงที

โอลิเวอร์ เบเทอร์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มอลิอันซ์ กล่าวว่า ประเทศไทยบริษัทมีความตั้งใจที่จะเป็นผู้นำด้านประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ทำให้สินค้าสุขภาพเป็นสินค้าที่จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ก็ต้องการที่จะมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อจะได้อยู่ใช้เงินและปกป้องทรัพย์สินจึงมองหาการดูแลสุขภาพเพราะในปี 2563 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนคนชรามากกว่าจีน ประกอบกับค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นและคนไทยมีประกันสุขภาพยังน้อยจึงมีแนวโน้มเติบโตได้อีกนาน