posttoday

"อลิอันซ์" วางไทยฮับอาเซียน

03 พฤศจิกายน 2560

การมาเยือนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มอลิอันซ์ เป็นครั้งแรก เป็นการตอกย้ำว่า ตลาดประกันชีวิตไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีความสำคัญของกลุ่มอลิอันซ์

โดย วารุณี อินวันนา

การมาเยือน บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ของ โอลิเวอร์ เบเทอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มอลิอันซ์ เป็นครั้งแรก เป็นการตอกย้ำว่า ตลาดประกันชีวิตไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีความสำคัญของกลุ่มอลิอันซ์

เบเทอร์ กล่าวว่า ตลาดสำคัญในเอเชียของกลุ่มอลิอันซ์ในภูมิภาคนี้มี ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยในส่วนของไทยนั้น ได้วางไว้ให้เป็นฐานในการมองหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคแถบนี้ และช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจในแถบนี้เจริญเติบโต โดยล่าสุดบริษัทได้เข้าไปขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์และลาว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้

ดังนั้น จึงมีความสนใจที่จะขยายสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต และบริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ โดยในส่วนของธุรกิจประกันชีวิต มีการวางโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจไว้ดีแล้ว มีขนาดที่น่าพอใจและสามารถขยายการเติบโตได้อีก แต่ในส่วนของธุรกิจประกันภัยในไทยนั้น ยังมีขนาดเล็ก โดยมีความต้องการที่จะทำให้ขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือ จำนวนบริษัทประกันภัยขนาดเล็กมีจำนวนมาก และมีความซับซ้อน

“ธุรกิจประกันวินาศภัยมีจำนวนบริษัทขนาดเล็กเยอะมาก การที่จะโตต้องนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และการจะทำให้มีขนาดใหญ่ จะต้องประกอบร่างเข้าด้วยกัน แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบในการทำอย่างนั้น” เบเทอร์กล่าว

เบเทอร์ กล่าวว่า กลุ่มอลิอันซ์มี 3 ธุรกิจในมือ คือ ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัย มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และธุรกิจบริหารเงินลงทุน มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ทำให้สามารถให้บริการลูกค้าได้ครบวงจร ทั้งการปกป้องความมั่งคั่ง ด้านชีวิต และทรัพย์สิน การบริหารความมั่งคั่งของลูกค้าให้เติบโตเพิ่มขึ้นในต้นทุนที่ต่ำ และจากการที่มีการทำธุรกิจครอบคลุมทั่วโลก จึงมีประสบการณ์ทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นำมาปรับให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศต่างๆ รวมถึงในไทย ทำให้ประหยัดต้นทุนและมีความได้เปรียบคู่แข่งขันในท้องถิ่น

“หลายบริษัทอาจจะมุ่งเป้าไปที่การทำกำไรได้สูงสุด การทำให้ธุรกิจมีการเติบโต แต่เรามองที่ความพึงพอใจของลูกค้า ถ้าลูกค้าพอใจในสินค้า บริการ ของเรา ทุกอย่างจะตามมาเอง ซึ่งในประเทศไทย เราได้คะแนนความพึงพอใจของลูกค้าสูงสุด และพนักงานทำงานอย่างมีความสุข” เบเทอร์ กล่าว

เบเทอร์ กล่าวว่า จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องการที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านสินค้า บริการ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงและได้รับบริการที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับกลุ่มอลิอันซ์ ที่ปัจจุบันได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าไปใช้ในแต่ละประเทศ

“การทรานส์ฟอร์มการดำเนินธุรกิจด้านการเงินและการประกันในยุคดิจิทัลในอนาคต มองว่าไม่ได้ติดที่ตัวลูกค้า แต่เราจะเอาประกันไปแปะไว้กับพาหนะและบริการที่ลูกค้าใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางขึ้นเขาลูกค้าจะมีการเช่ารถที่เหมาะกับการขึ้นเขา และการเดินทางในเมืองก็ไม่จำเป็นต้องซื้อรถส่วนตัวใช้ เพราะมีรถที่ให้บริการหลากหลาย การขายประกันในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบไป” เบเทอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เบเทอร์ เชื่อว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพจะไม่สามารถมาแทนที่บริษัทประกันภัยได้ เพราะสินค้าประกันภัยมีความซับซ้อน ต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เฉพาะด้าน สินค้าประกันภัย และบริหารจัดการความเสี่ยงจะยังถูกผลิตและดำเนินการโดยบริษัทประกันภัยเช่นเดิม แต่สตาร์ทอัพจะเข้ามาช่วยให้กระบวนการการเข้าถึงประกันภัยทำได้ง่ายขึ้นและต้นทุนต่ำลง