posttoday

ซื้อประกันรถแล้ว ต้องได้ "เคลม"

17 ตุลาคม 2560

โดย...ฉัตรชัย ธนจินดาเลิศ

โดย...ฉัตรชัย ธนจินดาเลิศ

จี๊ดขึ้นสมองจริงๆ สำหรับใครที่เคยมีประสบการณ์ เมื่อสั่งซื้อของไปแล้ว จ่ายเงินไปแล้ว แต่ถึงเวลาส่งมอบก็ยังไม่ได้รับของนั้นอยู่ดี

กว่าจะรู้ว่าโดนดีเข้า ก็สายเสียแล้ว เพราะนอกจากเสียรู้ เสียเงินเสียทองแล้ว ถ้าจะเอาเรื่องให้หายแค้น ก็ยังต้องเสียเวลาไปแจ้งความ เสียเวลาทำมาหากินเข้าไปอีก

เรียกได้ว่าปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภคยังคงมีมาตลอด สร้างความปวดใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหนก็ตาม แม้จะมีข่าวออกมาใหญ่โตให้ผู้บริโภคทั้งหลายได้ระมัดระวังตัว อย่าเห็นแก่ของราคาถูกเพียงอย่างเดียว ก็ยังมิวายมีคนโดนหลอกอีกจนได้

ยิ่งยุคสมัครโลกสื่อสารออนไลน์เพียงปลายนิ้ว การสั่งซื้อของ การโอนเงิน  การหลอกลวง ก็ง่ายเข้าไปใหญ่

ไม่เว้นแม้แต่การสั่งซื้อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างประกันภัยรถยนต์ ก็ยังมีคนโดนหลอกกับเขาไปด้วย เมื่อจ่ายเงินค่าเบี้ยไปแล้ว คิดว่าเป็นลูกค้าบริษัท ประกันเรียบร้อย แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นเกิดอุบัติเหตุขึ้น พนักงานเคลมก็ไม่มา เคลมกับบริษัทประกันก็ไม่ได้

เพราะบริษัทประกันเองก็ไม่ได้รู้เรื่องด้วยว่า ตัวคุณนั้นเป็นลูกค้าบริษัทเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ ในเมื่อบริษัท นายหน้าหรือโบรกเกอร์ที่คุณซื้อประกันไปนั้น เป็นโบรกเกอร์เถื่อน ไม่มีอยู่ในสารบบที่จดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ขายประกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใด

จริงอยู่แม้กฎหมายจะมีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีขายประกันภัยโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท หรือหากมีใบอนุญาตแล้วขายผิดประเภทก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ก็ไม่ได้ทำให้มิจฉาชีพเหล่านี้เกรงกลัวแต่อย่างใด

ที่นี้ปัญหาทั้งหมดจึงตกมาอยู่กับผู้บริโภคก่อนเลยเป็นด่านแรก ที่ต้องใช้ความระมัดระวังตัวเองไว้ก่อน ว่าทำอย่างไร จะไม่ให้ถูกโบรกเกอร์เถื่อนเหล่านี้หลอกลวงเอาเงินเราไปได้

ใครที่มาเสนอเบี้ยที่ถูกกว่าเจ้าอื่นมากๆ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า ผิดปกติแน่ๆ  อย่างนี้ต้อง...เถื่อนชัวร์!!

ปัญหาเรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะเจ้าของรถทุกคันที่ต้องการซื้อประกันก็มีสิทธิโดนกับตัวเองได้ทุกเมื่อ

บริษัท วิริยะประกันภัย ในฐานะเจ้าตลาดประกันภัยรถยนต์และมักจะถูกอ้างชื่อจากเหล่าร้ายเสมอว่า ขายเบี้ยราคาถูกให้กับวิริยะประกันภัยด้วย จึงอยู่เฉยไม่ได้ ได้ออกคัมภีร์แนะนำ 5 ขั้นตอน ในการซื้อประกันภัยกับตัวแทน หรือบริษัท โบรกเกอร์ ให้ปลอดภัยมาเป็นแนวทาง เริ่มจาก

1.ต้องมีสำนักงาน มีหลักแหล่งชัดเจน เชื่อถือได้

ตัวแทน หรือบริษัทโบรกเกอร์ เหล่านั้นต้องมีสถานที่ตั้งสำนักงานของบริษัทให้เห็นอย่างชัดเจน มีความน่าเชื่อถือได้ ต้องตรวจสอบการจดทะเบียนของบริษัทว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

โดยเฉพาะการตรวจสอบลงไปถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัท ต้องระบุว่า ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัยด้วย

ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด บริษัทที่ถูกดำเนินคดีเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและมีที่ตั้งชัดเจน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในหนังสือบริคณห์สนธิไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ว่า ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัย

2.ดูบัตรก่อนซื้อ แสดงบัตรก่อนขาย

ตามกฎหมายแล้วบังคับให้ตัวแทนหรือบริษัท โบรกเกอร์ ต้องแสดงบัตรประจำตัว คือ ใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย หรือแม้แต่ขายประกันผ่านทางโทรศัพท์จำต้องบอกหมายเลขใบอนุญาตก่อนเสมอ เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าถูกต้องหรือไม่ 

โดยตรวจสอบได้ที่หน่วยงานกลางที่คอยดูแลธุรกิจประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทร. 1186 หรือ www.oic.or.th หรือผ่านแอพพลิเคชั่น “รอบรู้ประกันภัย” ของ คปภ.เอง

อีกทั้งเพื่อให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ณ ปัจจุบัน  เราก็ควรตรวจสอบบริษัท ประกันภัยที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นบริษัทที่รับประกันภัยด้วยอีกรอบหนึ่ง เพื่อความแน่ใจ 100% ว่า รถของเราได้รับความคุ้มครองแน่นอนแล้ว

3.ตัวแทนต้องมีสังกัด โบรกเกอร์ต้องมีใบแต่งตั้ง

ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างถึงบริษัท ประกันภัยรายใดรายหนึ่งในฐานะบริษัท ผู้รับประกันภัย ก็ควรอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสอบกับบริษัทประกันภัยนั้นๆ โดยตรง ว่าตัวแทนหรือบริษัทโบรกเกอร์นั้นๆ เป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันภัยหรือไม่

เพราะการตรวจสอบเฉพาะใบแต่งตั้งที่บริษัทโบรกเกอร์แสดงให้เห็นนั้น อาจถูกปลอมแปลงหรือเป็นใบแต่งตั้งเดิมที่หมดอายุหรือถูกเพิกถอนไปแล้ว แม้แต่ใบเสร็จรับเงินก็ปลอมแปลงกันได้เช่นกัน

4.ต้องได้เลขรับแจ้งอุบัติเหตุ เช็กแล้วชัวร์

กระบวนการการรับประกันภัยรถยนต์อย่างหนึ่ง คือ เมื่อบริษัทโบรกเกอร์ได้รับรู้ถึงความต้องการความคุ้มครองที่ลูกค้าต้องการซื้อประกันแล้ว ก็จะต้องส่งใบคำขอเอาประกันภัยไปยังบริษัทประกันภัย และเมื่อบริษัทประกันภัยได้รับข้อมูลคำขอประกันภัยเรียบร้อยแล้ว 

ถ้าไม่มีอะไรทักท้วง หรือเกิดข้อผิดพลาดอะไร บริษัทประกันภัยจะออกหมายเลขรับแจ้งอุบัติเหตุให้ลูกค้าก่อน ซึ่งก็จะมีผลได้รับความคุ้มครองทันที (แม้ลูกค้าจะยังไม่ได้รับเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม)

ดังนั้น เมื่อรับหมายเลขแจ้งอุบัติเหตุจากบริษัทโบรกเกอร์มาแล้ว ก็ควรอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสอบย้อนกลับเพื่อยืนยันหมายเลขดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่

5.โบรกเกอร์ต้องแสดงใบรับมอบอำนาจก่อนรับเบี้ยประกันภัย

อันนี้เป็นอีกข้อที่กฎหมายระบุไว้เช่นกันว่า ให้บริษัทโบรกเกอร์ต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทประกันภัยทุกครั้งที่มีการรับเบี้ยในนามของบริษัท โบรกเกอร์ด้วย

นี่เป็นกลยุทธ์หลักๆ ที่จะทำให้เราสามารถเอาตัวรอดจากพวกโบรกเกอร์เถื่อนเหล่านั้นไปได้ เพียงแต่อาจเสียเวลาตรวจสอบเพิ่มอีกนิด แต่ก็อุ่นใจได้แน่ว่า ในเมื่อเราจ่ายเงินค่าเบี้ยออกไปแล้ว ก็ต้องได้รับความคุ้มครองกลับมา  ถึงเวลาเกิดเหตุแล้วต้องได้เคลม

ที่สำคัญ อย่าลืมว่า “ค่าเบี้ยถูกเกินจริง ย่อมมีความเสี่ยง”