posttoday

แม่ทัพใหม่ ‘ศรีอยุธยาฯประกันภัย’

02 กันยายน 2560

ด้วยประสบการณ์ทำงานในสายงานธุรกิจประกันวินาศภัยมาเกือบ 30 ปี

โดย  ฉัตรชัย ธนจินดาเลิศ
ด้วยประสบการณ์ทำงานในสายงานธุรกิจประกันวินาศภัยมาเกือบ 30 ปี ทำให้ “อานนท์ โอภาสพิมลธรรม” ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้บริหารคนสำคัญของแวดวงประกันวินาศภัย ผ่านงานมาแล้วจากบริษัทขนาดใหญ่อย่างบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ (ไทยรี) และบริษัท วิริยะประกันภัย

ล่าสุด เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ทั้งของบริษัท ศรีอยุธยา แคปปิตอล และบริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย

นโยบายในการบริหารงาน?

อานนท์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะมีด้วยกัน 3 เรื่องหลัก คือ 1.ทำของเดิมให้ดีขึ้นจากฐานเดิมที่มีอยู่ ด้วยการไปเพิ่มประสิทธิภาพจากช่องทางต่างๆ ให้มีการพัฒนาได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจจริงๆ ได้เพิ่มขึ้น

2.สร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาตามความต้องการของลูกค้าและนำมาพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งชีพจรสินค้าใหม่มีมากในตลาด แต่จะขายได้ตลอดรอดฝั่งมีน้อยมาก ซึ่งถ้าเราเข้าใจความต้องการลูกค้าได้ ก็จะตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ได้เตรียมแบบประกันใหม่ไว้ 2-3 ตัวแล้วที่จะออกสู่ตลาด

3.ใส่ใจการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอินชัวร์เทคจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้  ตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าและผู้บริโภคได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่มีเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ต่อไปต้องมีการออกแบบธุรกิจใหม่ให้สมดุล ด้วยการสร้าง “นิว บิซิเนส โมเดล” ขึ้น เพราะต่อไปโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่สามารถใช้รูปแบบธุรกิจเดิมๆ ได้ตลอด  ซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมอยู่แล้ว

“เรามีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี เรามีดิจิทัลแพลตฟอร์มไว้แล้วสามารถใช้งานได้เลย พร้อมพัฒนาโครงการต่างๆ ไปยังอินชัวร์เทค รวมถึงพัฒนาธุรกิจภายใต้แซนบ็อกซ์ ซึ่งตอนนี้โครงสร้างทุกอย่างพร้อมแล้ว” อานนท์ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนงานปี 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนอยู่ คาดว่าจะเห็นชัดเจนได้ในเดือน พ.ย.นี้

เป้าหมายธุรกิจในอนาคต?

ต้องการให้บริษัท ศรีอยุธยาฯ ประกัน เป็นบริษัทประกันภัยที่รับใช้ประชาชนได้จริงๆ ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีมาผสมผสานกันให้มีความสมดุลกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดต้องเป็นลูกค้า เป็นบริษัทที่มีการปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย ดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ด้วยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 

ขณะเดียวกันบริษัทมีความแข็งแกร่งด้านการเงินมาก มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) สูงถึง 994% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 300% เท่านั้น  ซึ่งถ้าเราจะขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก ตัวคาร์ก็ยังสูงอยู่ดี ทำให้การดูแลลูกค้าสินไหมได้ดี ไม่มีปัญหาสอดคล้องกับฐานะการเงินเรา

ส่วนผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แม้เราติดลบอยู่ 8% ทำเบี้ยได้ 1,437 ล้านบาท เนื่องจากมีแบบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) ตัวหนึ่งที่มีค่าสินไหมสูงเกิน คาดว่าทำให้ต้นทุนพีเอตัวนี้เกิน 100% เราก็ได้แก้ไขปัญหาระยะสั้นด้วยการหยุดขายไปแล้ว

และสถานการณ์เดือน ก.ค.เริ่มดีขึ้น ดังนั้นคาดว่าปีนี้เราจะทำเบี้ยได้ 3,000 ล้านบาท โดยเน้นขายประกันรถ 2+ และ 3+ รวมถึงประกันอัคคีภัยที่ของเรายังเติบโตดีเป็นหลัก ซึ่งการเติบโตในปีนี้คงใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ทำเบี้ยได้ 3,050 ล้านบาท แต่อนาคตวางแผน 3 ปี ตามวาระที่ผมทำงานอยู่ ต้องทำเบี้ยอย่างน้อยให้ได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท

แนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัย?

ภาพรวมประกันวินาศภัยช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เติบโตเพียง 2.9% แต่พอมา 5 เดือน ก็เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.2% ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตชัดเจนขึ้น โดยมีปัจจัยสนันสนุนหลักมาจากเบี้ยรถยนต์ที่ทำได้ 5.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 3.6% ซึ่งก็สอดคล้องกับการเติบโตของยอดขายรถยนต์โดยรวม และยังมีเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ดอีก 3.1 หมื่นล้านบาท  เติบโต 7%  จากเบี้ยรวมทั้งหมดที่ได้ 9 หมื่นล้านบาท แม้ว่าเบี้ยประกันอัคคีภัยจะติดลบไป 5.5% ก็ตาม

“ทำให้มั่นใจว่าครึ่งปีหลังนี้ยาวไปถึงปีหน้า ธุรกิจประกันวินาศภัยจะฟื้นตัวเติบโตต่อไปได้ บนพื้นฐานจีดีพีปีนี้ 3.5% และปีหน้า 3.6-3.7%” อานนท์ กล่าว

สำหรับปัจจัยบวกทางธุรกิจ คือการเติบโตของเศรษฐกิจ พนักงานที่มีรายได้ประจำจะไม่กระทบรวมถึงลูกค้าระดับกลางถึงบนที่ยังมีกำลังซื้ออยู่และเอาเงินมาซื้อประกันมากขึ้น  ขณะเดียวกันประชาชนก็เข้าใจเรื่องประกันมากขึ้น ดังนั้นผู้บริหารธุรกิจประกันเองก็ต้องเข้าใจด้วยว่าส่วนไหนจะเติบโตได้ดี ก็ควรเข้าไปหาส่วนนั้น