posttoday

‘ไทยวิวัฒน์’ พึ่ง 4.0 ดันธุรกิจ

09 มิถุนายน 2560

“ในตลาดวันนี้เทคโนโลยีมีเต็มไปหมดและราคาถูกมากๆ แต่สิ่งที่ท้าทายคือทำอย่างไรถึงจะนำมาใช้กับธุรกิจที่เราทำอยู่เพื่อให้ถูกใจผู้บริโภคยุค 4.0 "

โดย...วารุณี อินวันนา 

“ในตลาดวันนี้เทคโนโลยีมีเต็มไปหมดและราคาถูกมากๆ แต่สิ่งที่ท้าทายคือทำอย่างไรถึงจะนำมาใช้กับธุรกิจที่เราทำอยู่เพื่อให้ถูกใจผู้บริโภคยุค 4.0 และทำอย่างไรให้บุคลากรมีใจที่จะพัฒนาผลงานที่ไม่เหมือนใครออกมา” จีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ กล่าว

 

จีรพันธ์ กล่าวว่า นวัตกรรมใหม่ที่บริษัทจะพัฒนาขึ้นมาในอนาคต จะต้องทำให้ผู้บริโภค ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ มีทางเลือกที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตัวเอง เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตได้ตามที่ต้องการ จึงเป็นโจทย์ที่จะต้องคิดตลอดเวลา ทำการเก็บข้อมูล วิจัย เพื่อค้นหาให้พบว่าผู้บริโภคต้องการอะไรจริงๆ ซึ่งพบว่าผู้บริโภคยุค 4.0 ต้องการความเป็นอิสระในชีวิต ต้องการควบคุมการออกแบบชีวิตด้วยตัวเอง มีความต้องการที่ซับซ้อน ฉลาด การใช้จ่ายเงินต้องมีประโยชน์สูงสุด

“เราก็นำสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมประกันภัย เศรษฐกิจโดยรวม บุคลิกของผู้บริโภค มารวมกัน สร้างนวัตกรรมขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในตลาด นำมาออกสินค้าและบริการ เป็นการคิดใหม่ที่ต้องไม่ยึดติดความคิดเดิมๆ” จีรพันธ์ กล่าว

จีรพันธ์ กล่าวว่า ปี 2560 บริษัทตั้งเป้าหมายเบี้ยรับรวมไว้ 3,500 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีเบี้ยรับรวม 3,229 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ เพราะเป็นจุดแข็งของบริษัทที่รับประกันภัยด้านนี้มากกว่า 50 ปี และปีนี้บริษัทมีการปรับปรุงฐานลูกค้า ด้วยการขึ้นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง 10% ขณะเดียวกันได้ลดเบี้ยให้กับลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ 15% และขยายฐานลูกค้าประกันภัยประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม โดยปีนี้ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน การเก็บข้อมูลที่ปีนี้จะนำระบบสแกนเนอร์เข้ามาจัดเก็บเอกสาร การออกสินค้าใหม่ การให้บริการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน จะยังไม่สามารถประเมินตัวเลขของต้นทุนที่ลดลงได้ ต้องใช้เวลาพอสมควรถึงจะบอกได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการซ่อมและการเกิดอุบัติเหตุยังสูง

นอกจากนี้ ปีนี้ได้พัฒนากรมธรรม์ประกันรถเติมเงินเวอร์ชั่น 2 ที่มีการแจกระบบและอุปกรณ์สำหรับเปิด-ปิด ความคุ้มครองอัตโนมัติให้ลูกค้าฟรี 1 ปี เพื่อตัดปัญหาลูกค้าลืมเปิด-ปิดความคุ้มครอง ที่พบในปีแรก ถือเป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากปี 2559 ที่บริษัทได้ประกาศตัวเข้าสู่ยุค 4.0 ด้วยการนำวิวัฒนาการใหม่เข้ามาใช้ในธุรกิจ และเปิดตัวบุคลิกใหม่ของการประกันภัยรถยนต์ ด้วยการเปิดตัวกรมธรรม์ประกันรถเติมเงินไทยวิวัฒน์ ที่ออกมาจับกลุ่มลูกค้าที่ใช้รถน้อยไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง ควบคู่กับบริการเคลมผ่านแอพพลิเคชั่น เรียกได้ว่าเป็นบริษัทประกันภัยเดียวในโลก และได้รับรางวัลผู้นำนวัตกรรมประกันภัยจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ในปีแรกของการขายประกันภัยรถเติมเงิน ยังมีลูกค้าเข้ามาไม่มาก แต่ถือว่าได้รับการตอบรับดี มีเบี้ยจากลูกค้ากลุ่มนี้ประมาณ 10% ของเบี้ยรับรวม สะท้อนให้เห็นว่าเป็นสินค้าที่ถูกใจผู้บริโภคและคนไทยหัวใจ 4.0 นี้มีจำนวนมาก แต่อัตราการต่ออายุของลูกค้ากลุ่มนี้ในปีแรกประมาณ 30%

อย่างไรก็ตาม การที่เป็นเรื่องใหม่จริงๆ ทำให้มีคนพูดถึงกันมาก ในปี 2560 นี้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะเดือน มี.ค. มีลูกค้าเข้ามาเป็นหมื่นราย อาจเป็นเพราะเป็นช่วงกำลังจะเดินทางในช่วงสงกรานต์ และมีการต่ออายุเข้ามาถึง 70% จึงคาดว่าในปีนี้เบี้ยประกันรถเติมเงินจะเพิ่มเป็น 15% ของเบี้ยรับรวม

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจะเน้นให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และมีความแตกต่างจากตลาด เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครเหมือน โดยอยู่ระหว่างการออกแบบและติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการชี้แจงและขอคำปรึกษาด้านข้อกฎหมาย เพราะสินค้าที่จะออกมาจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและต้องได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง

“เรายังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ผ่านระบบอี-เพย์เมนต์ หรือการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือผ่านระบบพร้อมเพย์ ที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบันที่ชอบทำธุรกรรมบนสมาร์ทโฟน หรือมีชีวิตที่อิงอยู่บนดิจิทัลมากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนกระดาษที่จะนำมาผลิตเป็นเช็ค และตัดขั้นตอนในการพิมพ์เช็คออกไป ทำให้ประชาชนได้รับสินไหมที่รวดเร็ว” จีรพันธ์ กล่าว

จีรพันธ์ เล่าว่า ในการผลักดันให้เกิดบรรยากาศการพัฒนานวัตกรรมใหม่ จะต้องทำให้บุคลากรมีแรงบันดาลใจที่อยากจะคิด อยากจะทำ อยากทดลอง ซึ่งผู้บริหารจะต้องเข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าวเพื่อเป็นกำลังใจ และต้องใช้เวลาในการทดสอบนวัตกรรมนั้นๆ ร่วมกัน

“ต้นทุนของนวัตกรรมใหม่ ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี และไม่ได้อยู่ที่เงินเดือนของบุคลากร แต่อยู่ที่การกระตุ้นให้คนอยากจะทำงาน อย่างระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ TBeacon ที่เราแจกลูกค้าเอาไปวางไว้ในรถ เครื่องไม่แพงและมีอยู่แล้วในตลาด แต่กว่าจะนำมาปรับใช้ได้ผลกับประกันรถเติมเงิน ต้องใช้เวลาทดสอบ 3-4 เดือน และต้องทดสอบทีละชิ้น ชิ้นไหนไม่ 100% ก็ต้องส่งกลับคืนผู้ผลิตไปปรับปรุง และผมก็ต้องร่วมทดสอบด้วย วันนี้บอกได้เลยว่าบุคลากรของบริษัทที่มีหัวใจ 4.0 เราไม่แพ้ใคร” จีรพันธ์ กล่าว

จีรพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทประกันวินาศภัยเกือบทุกแห่งต่างหันมาพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้การทำงาน รวดเร็ว แม่นยำ และลดต้นทุน เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันและรักษาอัตราการเติบโตของธุรกิจและกำไรของบริษัทให้ยั่งยืน เพราะในอนาคตการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น จากการที่ทางการประกาศให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ อัคคีภัย อย่างน้อยปีนี้ประชาชนจะได้ส่วนลด 15-20% จากการติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถ และการซื้อสัญญาเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ปลอดแอลกอฮอล์ แต่ละบริษัทจึงต้องเน้นการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด