posttoday

ปิดตำนาน 3ส. เจ้าพ่อเหล็ก !! สวัสดิ์ VS สมศักดิ์ เส้นทางที่แตกต่าง

07 มีนาคม 2554

ทันทีที่บริษัท อาร์เซลอร์ มิตตัล ของ ลักษมี มิตตัล ผู้ประกอบการเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก

ทันทีที่บริษัท อาร์เซลอร์ มิตตัล ของ ลักษมี มิตตัล ผู้ประกอบการเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก

 ตกลงปลงใจที่จะเข้าซื้อหุ้นบริษัท จี สตีล (GSTEEL) ของ สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ในสัดส่วน 40% และอัดฉีดสภาพคล่องอีกส่วนหนึ่ง รวมเม็ดเงินกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยตกอยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติเกือบหมด

ปิดตำนาน 3ส. เจ้าพ่อเหล็ก !! สวัสดิ์ VS สมศักดิ์ เส้นทางที่แตกต่าง

ก่อนหน้านี้ ทาทา สตีล ยักษ์ใหญ่ของอินเดียเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท มิลลิเนียม สตีล (MS) จากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ทำเหล็กเส้น ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังมีบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ของกลุ่มวิริยประไพกิจ ที่ยังคงอยู่ในมือเจ้าของเดิมและพยายามดิ้นรนด้วยการซื้อกิจการโรงเหล็กของอังกฤษเพื่อทำธุรกิจเหล็กครบวงจร แต่อนาคตก็การันตีไม่ได้ว่าจะเดินไปทางไหน

การเข้ามาของ ลักษมี มิตตัล ครั้งนี้ เป็นการปิดตำนาน 3 ส. เจ้าพ่อวงการเหล็กของไทยลงด้วย ซึ่ง ส. คนแรก “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” อดีตเจ้าของบริษัท นครไทยสตริปมิลล์ (NSM) และบริษัท เอ็น.ที.เอส. สตีล ส. คนที่ 2 “สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” และ ส. คนที่ 3 “สว่าง เลาหทัย” เจ้าของกรุงเทพผลิตเหล็ก (BSI) ที่เพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วและกิจการอยู่ในมือลูกๆ

ผู้เชี่ยวชาญในวงการเหล็กได้เปรียบเทียบการก้าวลงจากอุตสาหกรรมเหล็กระหว่าง “สวัสดิ์” และ “สมศักดิ์” แตกต่างกันเหลือเกินทั้งๆ ที่เส้นทางการทำธุรกิจมีความใกล้เคียงกัน

“สวัสดิ์” ประสบปัญหาในช่วงที่กิจการตกต่ำและมีหนี้สินมากมาย ถึงกับลั่นวาจาที่เป็นอมตะในยุคหนี้เบ่งบานว่า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย จนสามารถนำพา NSM รอดพ้นจากการล้มหายตายจากและยังได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากเจ้าหนี้ แม้ว่าสุดท้ายสวัสดิ์ก็ต้องก้าวพ้นจาก NSM แต่เป็นไปด้วยความเต็มใจและมีความมั่งคั่งในระดับหนึ่งของชีวิต

ครั้งนั้น NSM ถูกขายให้กับบริษัทลูกของจี สตีล และสวัสดิ์พูดอย่างเต็มปากว่า เป็นการปลดแอกภาระหนี้และปลดแอกธุรกิจเหล็กออกจากบ่าเสียที

สำหรับ “สมศักดิ์” แล้ว การยกล็อตหุ้นขายให้กับ “มิตตัล” ถือว่าไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือมากนัก แม้จะยังเหลือหุ้นอยู่ 60% แต่ก็ไม่รู้อนาคต เพราะอำนาจทั้งหมดตกอยู่ในมือของเหล็กรายใหญ่ของโลกไปแล้ว แถมราคาที่ซื้อขายกันที่ 0.63 บาท ก็ถูกมาก

ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่า ลักษมี มิลตัล ไม่เคยซื้อของแพงและจะแสวงหาของถูกๆ เท่านั้น ซึ่งการตัดสินใจขายเกิดขึ้นในภาวะที่ตีบตัน จี สตีล มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ก็ยิ่งถูกกดราคาและด้วยเหตุนี้เองทำให้เห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างสวัสดิ์และสมศักดิ์ในช่วงที่สลัดธุรกิจเหล็กออกจากตัว

“เหตุผลหนึ่งที่ทำให้จี สตีล เดินทางมาถึงจุดตันนี้ เพราะการไปซื้อ NSM ในภาวะที่ตัวเองก็ยังไม่ได้แข็งแรงเพียงพอ ในปี 2547 ซึ่งเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (HRC) มีราคาดีมาก คือ ตันละ 1,100 เหรียญสหรัฐ ทำให้จี สตีล อยู่ในฐานะที่ดีมาก ถึงขนาดทาง “มิลตัน” เข้ามาขอซื้อหุ้น แต่ทาง จี สตีล ก็ปฏิเสธไม่ขาย แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ก็จำยอมต้องขาย จึงไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด

“สวัสดิ์” กล่าวทิ้งท้ายว่า การขาย NSM ให้กับจี สตีล นั้น เป็นเรื่องที่คิดถูก ตอนนี้ชีวิตไม่เครียดและมีความสุขดี

ผมตระหนักดีว่าการทำธุรกิจเหล็กจะต้องมีขนาดใหญ่มากพอถึงจะอยู่และแข่งขันได้ ธุรกิจนี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นการที่ยักษ์ใหญ่ของโลกเข้ามาและมีแหล่งวัตถุดิบที่มากมาย ก็น่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้

“ตอนผมขายกิจการกับตอนคุณสมศักดิ์ขายหุ้นตอนนี้มันต่างกัน ชั่วโมงนี้ธุรกิจลำบาก”

อนาคต สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ในจี สตีล จะเป็นอย่างไรเป็นหนังเรื่องยาวต้องติดตามดูกันต่อไป รวมถึงอุตสาหกรรมเหล็กไทยพัฒนาไปอย่างไรในมือต่างชาติด้วย