posttoday

3 สูตรสำเร็จสร้างมูลค่าเพิ่มบจ.ยั่งยืน

18 กุมภาพันธ์ 2554

“ชาลี จันทนยิ่งยง” รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดมุมมอง

“ชาลี จันทนยิ่งยง” รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดมุมมอง

3 สูตรสำเร็จสร้างมูลค่าเพิ่มบจ.ยั่งยืน

 “การเติบโตของบริษัทจดทะเบียนผ่านตลาดทุนไทย” ว่า ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์และสมาคมบริษัทจดทะเบียน พยายามกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีการพัฒนาคุณภาพเพื่อเปิดมุมมองใหม่ เป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อมีโอกาสเข้ามาหรือมีการลดการผูกขาดในตลาดทุน การเปิดเสรีค่าธรรมเนียม และในอนาคตจะมีการเปิดเสรีข้ามพรมแดน ดังนั้น บจ. ต้องพัฒนาตัวเองรับกับการแข่งขันที่สูงขึ้น

ก.ล.ต.ในฐานะผู้กำกับดูแลอาจไม่มีประสบการณ์แบบนักธุรกิจ ได้แต่ดูอยู่วงนอก เปรียบได้กับกรรมการห้ามมวย เห็นนักมวยหลายคนขึ้นชกมาหลายเวที บางคนเก่งขึ้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทโตอย่างยั่งยืน แต่บางคนไม่ไปไหน ไม่สามารถเติบโต อีกทั้งไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองได้ทั้งที่มีธุรกิจที่ดี

บริษัทแต่ละแห่งต่างมีวิธีการทำงาน และนำไปสู่การเติบโตที่แตกต่างกัน แต่ความสำเร็จของ บจ.จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีหน่วยงานสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ 3 หน่วยงาน หากจัดสรรคนเก่งและเหมาะสมมาทำหน้าที่เหล่านี้ ย่อมจะสนับสนุนให้บริษัทสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี

กลุ่มแรก คือ เลขานุการบริษัทจดทะเบียน ควรจะหาบุคคลที่เก่งมีความสามารถ เพราะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสำคัญของบริษัท ในเรื่องการจัดเตรียมประชุมคณะกรรมการ จัดเตรียมการประชุมผู้ถือหุ้น จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ และของสำนักงาน ก.ล.ต.เป็นอย่างดี เพื่อคอยทำหน้าที่ดูแลวิธีการต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และจะช่วยเหลือบริษัทได้เป็นอย่างดี

ในทางกลับกันหากบริษัทไม่ให้ความสำคัญ จัดตั้งบุคคลไม่เหมาะสมมาเป็นเลขานุการ เพียงเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย การขยายตัวของบริษัทก็ไม่ได้ไปในทิศทางที่ดี มีตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นแล้ว

โดยบริษัทแห่งหนึ่งไปมีแผนจะซื้อทรัพย์สินขนาดใหญ่ถึง 40% ของสินทรัพย์บริษัท จำเป็นต้องออกหุ้นเพิ่มทุน จึงจัดเรียกประชุมผู้ถือหุ้น แม้ว่าจะสามารถขอมติได้สำเร็จ แต่ปรากฏว่า รายการดังกล่าวเมื่อรวมกับรายการย้อนหลังก่อนหน้า 6 เดือน บริษัทได้ซื้อทรัพย์สินมีขนาดเกิน 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ตามเกณฑ์ที่กำหนดจำเป็นต้องขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย ทำให้บริษัทต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้ง

นอกจากจะเสียเวลา เสียหน้า เสียเงินในการเรียกประชุมแล้ว บริษัทยังเสียโอกาส แทนที่จะก้าวโตได้เร็วขึ้นก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ให้ความสำคัญกับบุคคลเบื้องหลังซึ่งควรให้ความสำคัญ

กลุ่มที่สอง คือการให้ความสำคัญกับฝ่ายควบคุมภายในบริษัททำหน้าที่สอดส่องดูแลภายในบริษัท ไม่ควรคิดว่ามีขึ้นมาเพื่อจับผิดผู้บริหาร ซึ่งหากบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น่าจะช่วยสร้างคุณภาพให้เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี

กลุ่มสุดท้ายที่อยู่เบื้องหลัง คือฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมระหว่างบริษัทกับผู้ลงทุนนำสินค้าไปนำเสนอต่อลูกค้า ด้วยหน้าที่นี้จำเป็นต้องรู้เบื้องหลังของทุกกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถตอบคำถามเมื่อถูกซักถามได้ จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง

“บริษัทบางแห่งอาจไม่สนใจคนกลุ่มนี้ เพราะเห็นว่าเรื่องขายของมีกลุ่มที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่หากลูกค้ามองไม่เห็น หรือไม่เข้าใจก็ไม่ให้ราคาหรือมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เหมือนกับบริษัทแห่งหนึ่ง ดำเนินธุรกิจที่เข้าใจยาก เช่นโทรคมนาคม แม้เจ้าของบริษัทเป็นวิศวกร มีความเข้าใจและรู้เรื่องสินค้าเป็นอย่างดี แต่ไม่รู้จักวิธีในการนำเสนอให้ลูกค้าเห็นประโยชน์ได้ ทำให้มูลค่าเพิ่มของบริษัทไม่เกิด”

“ชาลี” กล่าวทิ้งท้ายว่า เพียง บจ.ให้ความสำคัญของงานหลังบ้านทั้ง 3 จุดนี้ กำไรสุทธิและมูลค่าของบริษัทจะเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงก็จะลดลงมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของนักลงทุนและทางการ และสุดท้ายขนาดของตลาดหลักทรัพย์ก็จะเพิ่มตามด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยทำให้ บจ.มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นด้วย นั่นคือ การหาเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของทั้งบริษัทและนักลงทุนด้วย โดยมีตัวอย่างจาก บจ.ที่ผ่านประสบการณ์แล้วมาบอกต่อกัน

“กอบบุญ ศรีชัย” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า บริษัทได้ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนมากเพราะมีการใช้เครื่องมือทางการเงินตั้งแต่การเสนอขายหุ้นกับประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) และพอถึงปี 2542 ที่ปรึกษาทางการเงินได้แนะนำให้ปรับโครงสร้างบริษัทภายในกลุ่มรวมกันเป็น บจ.เพียงแห่งเดียว ซึ่งตอนนั้นมีบริษัทลูกอยู่ในตลาดหุ้นอีก 4 บริษัท นอกจากนั้นก็มีการจ่ายเป็นหุ้นปันผล 2 ครั้ง มีการเพิ่มทุน แตกมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท ทำวอร์แรนต์ 2 ครั้ง ออกหุ้นกู้ เปิดโครงการซื้อหุ้นคืน รวมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทด้วยการให้ซื้อหุ้นบริษัทอย่างสม่ำเสมอ (EJIP) ซึ่งถึงตอนนี้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้บริษัทโดยปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มเป็นหลักแสนล้านบาทเมื่อเทียบกับแรกที่เข้ามาเพียงหลักหมื่นล้านบาทเท่านั้น

เธอเล่าว่า อาจดูเหมือนการใช้ทุกเครื่องมือทางการเงินประสบความสำเร็จ แต่ก็มีบางกรณีที่จะให้ผลตรงข้าม เพราะตอนที่บริษัทออกวอร์แรนต์ครั้งที่ 2 ออกมา หลังเห็นความสำเร็จในการออกวอร์แรนต์ชุดที่ 1 แต่สิ่งที่ปรากฏคือราคาหุ้นกลับสะท้อนออกมาอีกแบบ เพราะการออกวอร์แรนต์เมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดโดยรวมมองว่าการออกวอร์แรนต์มีลักษณะเก็งกำไร บทเรียนครั้งนั้นสอนว่า การใช้เครื่องมือทางการเงินใดควรคำนึงถึงผลประโยชน์และทำให้โดนใจผู้ลงทุนด้วย ที่สำคัญควรคำนึงถึงจังหวะและเวลาประกอบด้วย

ทั้งนี้ การจะใช้เครื่องมือทางการเงินให้ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งต้องมีผู้ช่วยที่ดีอย่างที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งหลักในการเลือกคือต้องทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของ บจ.ถูกลง และรู้จักหาความคิดเห็นคนอื่นมาประกอบการต่อการตัดสินใจด้วย

อย่างไรตาม มีเทคนิคให้ทำความเข้าใจง่ายอยู่ 4 หัวข้อ คือ 1.ก่อนจะตัดสินใจใช้เครื่องมือทางการเงินควรมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการเพิ่มทุน เพิ่มสภาพคล่องให้ดี 2.เลือกจังหวะการออกให้ถูกเวลา 3.การสื่อสารไปยังผู้ลงทุนหรือที่ปรึกษาทางการเงินให้ถูกต้อง ครบถ้วนและชัดเจน และ 4.ต้องรู้เท่าทันที่ปรึกษาทางการเงินไม่ใช่ฟังข้อมูลด้านเดียวและไม่มีการเปรียบเทียบกับรายอื่น

สำหรับ “อุปกรม ทวีโภค” กรรมการบริหารและเลขานุการบริษัท บริษัท ถิรไทย (TRT) มองว่า ผลจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ทุนที่เพิ่มขึ้นและมีการออกวอร์แรนต์ถึง 2 ครั้งทำให้บริษัทสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตและมียอดขายที่พุ่งขึ้นเกือบเท่าตัวภายใน 3 ปีเป็น 2,300 ล้านบาท จากเดิม 1,200 ล้านบาท และปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคปเพิ่มเป็น 1,600 ล้านบาท จากเดิมที่ 600 ล้านบาท และหุ้นมีสภาพคล่องด้วยการแตกพาร์ทำให้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 6 เท่าภายใน 1 ปี

สิ่งที่อยากแนะนำคือ การใช้ต้นทุนทางการเงินด้วยการระดมทุนต้องคิดให้รอบคอบ เนื่องจากแพงกว่าต้นทุนในการใช้ตลาดเงิน แต่ข้อดีของตลาดทุนอยู่ที่ไม่ต้องชำระหนี้คืนเพียงแต่มีการจ่ายเงินปันผล โดยความเสี่ยงน่าจะอยู่ที่การเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินให้ถูกเวลาหรือไม่

“ตรัยรักษ์ เต็งไตรรัตน์” กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานวาณิชธนกิจและตลาดตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร และ “ประเสริฐ ภัทรดิลก กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส” มองในทิศทางเดียวกัน กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ผู้ประกอบการควรเตรียมตัวก่อนที่จะเลือกที่ปรึกษาทางการเงินมาแนะนำใช้เครื่องมือทางการเงินให้ คือ ตัวเองต้องรู้ว่าการระดมทุนครั้งนี้มีเป้าหมายนักลงทุนคือใคร เพราะหากขายหุ้นจำนวนมากให้เฉพาะสถาบันในประเทศก็ไม่น่าจะเพียงพอ และควรคิดถึงผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้นด้วย

แต่ท้ายสุดหาก บจ.มีประสบการณ์ในการหาเครื่องมือทางการเงินแล้ว อยากให้มองถึงที่ปรึกษาที่สำคัญอย่างตลาดหลักทรัพย์และสำนักงาน ก.ล.ต.เป็นลำดับแรกก่อน เพราะพร้อมที่ผลักดันให้ บจ.มีการใช้เครื่องมือทางการเงินมากขึ้น และหากมีประสบการณ์มาแล้วอย่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เคยจ้างที่ปรึกษาออกหุ้นกู้ครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันทาง SCC เป็นผู้จัดการและดำเนินการออกเอง เพื่อประหยัดต้นทุนด้านตลาดทุนที่ปกติจะแพงกว่าตลาดเงิน

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรงไม่หยุดหย่อน ผู้ประกอบการควรใช้ตลาดทุนเป็นช่องทางสำคัญในการเพิ่มพลังมหาศาลให้แก่บริษัท ถึงจะออกไปต่อกรบนเวทีตลาดการค้าโลกได้อย่างไม่ยากนัก