posttoday

ก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ

05 พฤษภาคม 2565

ก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ ลดขั้นตอน – เพิ่มความยืดหยุ่น ให้ภาคเอกชน

ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (takeover) เพื่อลดขั้นตอน กระบวนการและเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดส่งเอกสารแก่ผู้ถือหุ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมเปิดระบบ e-submission รับเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายในปี 2565 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน ภายใต้โครงการ Regulatory Guillotine

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีโครงการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้แก่ภาคธุรกิจ (Regulatory Guillotine)* ก.ล.ต. จึงออกประกาศปรับปรุงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ หลังจากได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบ โดยมีสรุปสาระสำคัญในประกาศฯ ดังนี้

(1) ยกเลิกข้อกำหนดให้ผู้ทำคำเสนอซื้อยื่นสำเนาคำเสนอซื้อและรายงานที่เกี่ยวข้องต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยกเลิกการโฆษณาคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในหนังสือพิมพ์ เพื่อการลดภาระให้แก่ผู้ทำคำเสนอซื้อ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดส่งเอกสารแก่ผู้ถือหุ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ลงทุนยังสามารถติดตามข้อมูลคำเสนอซื้อและรายงานที่เกี่ยวข้องได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565

(2) ยกเลิกการยื่นแบบรายงาน คำขอผ่อนผัน และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ takeover ในรูปแบบเอกสารสิ่งพิมพ์ โดยให้ยื่นเอกสารต่อ ก.ล.ต. ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-submission) เท่านั้น โดยขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการให้บริการจัดส่งเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าเปิดใช้อย่างเป็นทางการภายในปี 2565 และในระหว่างการปรับปรุงนี้ ก.ล.ต. ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยื่นเอกสารในรูปแบบเอกสารสิ่งพิมพ์ตามหลักเกณฑ์เดิม

ทั้งนี้ ในช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 2565 ก.ล.ต. จะเริ่มทดลองใช้ระบบ e-submission โดยจะประชาสัมพันธ์และเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทดลองใช้งานก่อนการเปิดใช้งานจริง

หมายเหตุ: * Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนโดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง