posttoday

บลจ.ยูโอบี เปิดตัวกองทุน "บริลเลียนท์ พลัส ฟันด์"

22 พฤศจิกายน 2562

บลจ.ยูโอบีชูจุดเด่น กองทุน "บริลเลียนท์ พลัส ฟันด์" ลงทุนตราสารหนี้คุณภาพทั่วโลก กองทุนอสังหาฯ และกองทรัสต์ เพิ่มทางเลือกระจายพอร์ตรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว

บลจ.ยูโอบีชูจุดเด่น กองทุน "บริลเลียนท์ พลัส ฟันด์" ลงทุนตราสารหนี้คุณภาพทั่วโลก กองทุนอสังหาฯ และกองทรัสต์ เพิ่มทางเลือกระจายพอร์ตรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว

นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ UOBAM เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่ยืดเยื้อ ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจอยู่ในช่วงวัฎจักรตอนปลายของการเติบโต การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยการอัดฉีดสภาพคล่องและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ

ในขณะที่การลงทุนในหุ้นมีความผันผวนสูง จึงแนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกที่ให้โอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจและลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน รวมถึงลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ REITs ที่สามารถให้โอกาสรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจากเงินปันผล ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ

จากปัจจัยดังกล่าว บลจ. ยูโอบี เปิดเสนอขาย ‘กองทุนเปิด บริลเลียนท์ พลัส ฟันด์’ (BPLUS) หรือ “Brilliant Plus Fund (BPLUS)” ซึ่งเป็นกองทุนเปิดประเภทกองทุนรวมผสมแบบ Fund of Funds ที่มีการจะกระจายการลงทุนในกองทุนทั้งในและต่างประเทศ และเป็นกองทุนรวมผสมที่ปัจจุบันคาดการณ์สัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพทั่วโลกประมาณ 80% และอีก 20% ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และ REITs เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนสูงขึ้น

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ สัดส่วนประมาณ 80% ประกอบด้วย การลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 2 กองทุน ประกอบด้วย

1) กองทุน United SGD Fund (Class A-Acc USD (Hedged)) ในสัดส่วน 32.5% ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งและบริหารจัดการโดย UOB Asset Management, ประเทศสิงคโปร์ โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นและเงินฝากของสถาบันการเงิน ซึ่งกระจายการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดี และมีการลงทุนในตราสารหนี้ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยให้ผลตอบแทนนับจากนับจากเดือนมกราคม – กันยายน 2562 (Year to Date) 3.49% (ที่มา: UOBAM)

2) กองทุน Manulife Asia Pacific Investment Grade Bond Fund (Class A-Acc) ในสัดส่วน 32.5% บริหารงานโดย Manulife Investment (ประเทศสิงคโปร์) ซึ่งเน้นกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ (ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก) คุณภาพระดับ Investment Grade และปรับเปลี่ยนระยะเวลาลงทุนได้อย่างยืดหยุ่นในกรอบ 1- 5 ปี เพื่อรับประโยชน์จากวัฎจักรอัตราดอกเบี้ยในแต่ละช่วง โดยให้ผลตอบแทนนับจากเดือนมกราคม – กันยายน 2562 (Year to Date) 6.27% (ที่มา: Manulife Investment)

ส่วนการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs อีกประมาณ 20% ประกอบด้วย

1) การลงทุนใน กองทุน UBS (Lux) Real Estate Fund Selection-Global (class I-96 EUR Acc) ในสัดส่วนประมาณ 13% บริหารงานโดย UBS ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยกองทุนนี้จะมีการกระจายการลงทุนไปยังกองทุนอสังหาริมทรัพย์ รวม 43 กองทุนทั่วโลก ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การจัดการมากกว่า 5,000 โครงการ และมีที่มาจากรายได้ผู้เช่าในโครงการกว่า 20,000 ราย

2) การเข้าลงทุนใน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในไทย โดยมี บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) เป็นผู้บริหารจัดการ อีกประมาณ 7%

ทั้งนี้ กองทุนจะมีการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนไทยที่มีคุณภาพ และพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 15% โดยสัดส่วนการลงทุนในกองทุนปลายทาง จะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับภาวะตลาดในแต่ละขณะตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน

กองทุน BPLUS มีนโยบายเน้นลงทุนในกองทุน CIS กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุน Private Equity หรือกองทุน ETF ทั้งใน และ/หรือ ต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป โดยจะเข้าลงทุนในกองทุนปลายทาง เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และในขณะเดียวกันจะลงทุนในต่างประเทศ เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่เกิน 79% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยส่วนของการลงทุนในต่างประเทศมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน

กองทุน BPLUS มีกำหนดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) วันที่ 22 – 29 พฤศจิกายน 2562 (ในวันและเวลาทำการ) มีทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท อัตราความเสี่ยงระดับกลาง (ระดับ 5) และไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ โดยเสนอขายผ่าน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด และบลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด มีให้เลือกทั้งกองประเภทที่มีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบปกติ (BPLUS) และแบบรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (BPLUS-R) และหลังช่วง IPO กองทุน BPLUS สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน